6 ปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย

May 18, 2021

6 ปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย

ขณะที่วงการสตาร์ทอัพทั่วโลกกำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และผู้ประกอบการหน้าใหม่หลายหมื่นรายริเริ่มก่อตั้งธุรกิจในทุกวัน ผลสำรวจจาก Failory สื่อออนไลน์สำหรับผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ พบว่า ส่วนใหญ่แล้วกว่า 90 % กลับล้มเหลว โดยเหตุผลหลักถึง 42% มาจากผลิตภัณฑ์ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด 23% เพราะทีมที่ขาดศักยภาพ และ 19% ถูกคู่แข่งเอาชนะในตลาดเอาชนะไปเสียก่อน 

ทว่าสตาร์ทอัพในประเทศไทยกลับต้องเผชิญความท้าทายอื่นอีกหลายประการนอกเหนือจากความท้าทายทั่วไปในการทำธุรกิจดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นความท้าทายจากปัจจัยภายนอก เช่น คุณภาพของระบบการศึกษาที่ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงปัจจัยภายในจากตัวผู้ประกอบการเองโดยตรง 

InnoHub รวบรวมสาเหตุหลายประการที่ฉุดรั้งความก้าวหน้าของสตาร์ทอัพไทยในช่วงไม่กี่ปีนี้ มาดูกันว่ามีอุปสรรคอะไรบ้างที่ผู้ประกอบธุรกิจต่าง ๆ ควรรู้ เพื่อให้สตาร์ทอัพสามารถปลดล็อกแนวคิด และก้าวข้ามอุปสรรค จนกลายเป็นหนึ่งใน 10% ที่ประสบความสำเร็จ 

อุปสรรคจากปัจจัยภายนอก

พื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนา

ไม่ว่าจะในมหาวิทยาลัยหรือวงการธุรกิจในประเทศไทย การวิจัยส่วนใหญ่มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้โดยเฉพาะกับบางเรื่องมากกว่าที่จะค้นคว้าพัฒนาความรู้แขนงใหม่ ๆ ซึ่งแม้จะก่อให้เกิดการต่อยอดของนวัตกรรมเดิม แต่จะไม่สามารถก่อให้เกิดการคิดค้นและสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่ผลิกโฉมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น บล็อกเชน (Blockchain) หรือ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ขั้นสูง (Advanced Robotic) อย่างในต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้เอง สตาร์ทอัพของไทยจึงไล่ตามเทคโนโลยีของต่างชาติอยู่บ่อยครั้ง

ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ

แม้สตาร์ทอัพในไทยส่วนใหญ่จะมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นคนไทยด้วยกันเอง แต่การขาดทักษะภาษาอังกฤษก็อาจส่งผลต่อโอกาสในการเติบโตในอนาคตได้ เพราะการที่สตาร์ทอัพเล็ก ๆ จะเติบโตเป็นบริษัทที่มั่นคงได้นั้น อาจต้องอาศัยนักลงทุนหลากหลายเชื้อชาติและการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจในต่างประเทศ 

แม้หน่วยงานภาครัฐของไทยจะสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ แต่หากเจ้าของธุรกิจไม่มีทักษะภาษาอังกฤษที่เพียงพอ แน่นอนว่าพวกเขาก็จะไม่สามารถอธิบายแนวคิดทางธุรกิจให้นักลงทุนต่างชาติฟังได้ จึงทำให้โอกาสที่จะได้รับความสนใจและมีสายสัมพันธ์ในแวดวงธุรกิจน้อยลงตามไปด้วย

ประสบการณ์อันเชี่ยวชาญ 

เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ค่อนข้างใหม่ในแวดวงสตาร์ทอัพ จึงอยู่ในช่วงระยะเวลาของการเรียนรู้ และสั่งสมประสบการณ์ เพื่อให้สตาร์ทอัพไทยสามารถเข้าใจถึงความต้องการของตลาดได้อย่างแท้จริง

การเริ่มต้นทำธุรกิจสตาร์ทอัพด้วยความกล้าที่จะออกจาก Comfort Zone เก่า ๆ พร้อมที่จะเผชิญโลกใบใหม่ สังเกตสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบตัวเพื่อนำมาต่อยอดเป็นความคิดสร้างสรรค์ คอยเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งพร้อมที่จะเรียนรู้ในข้อผิดพลาด สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณก้าวผ่านอุปสรรคต่าง ๆ และทำให้บริษัทสตาร์ทอัพก้าวหน้าและเติบโตอย่างรวดเร็ว 

อุปสรรคจากปัจจัยภายใน 

Team Work และบทบาทที่สมดุล 

การร่วมทีมกับคนที่มีความสามารถ มีจรรยาบรรณ หรือเข้ากันได้ดีในการทำงาน อาจไม่เพียงพอเสมอไป สตาร์ทอัพบางแห่งในประเทศไทยรับพนักงานที่มีทักษะคล้ายกันจำนวนมากเกินไป บ่อยครั้งเหตุผลที่จ้างก็เพียงเพราะคนเหล่านั้นมีแนวคิดคล้ายกับหัวหน้าทีมเท่านั้นเอง 

ทั้งที่จริง ความสำเร็จของธุรกิจขึ้นอยู่กับทักษะที่หลากหลายของคนในทีมด้วยเช่นกัน หากสตาร์ทอัพ FinTech เต็มไปด้วยพนักงานที่เชี่ยวชาญด้านการเขียนโค้ด แต่ไม่มีใครเคยสร้างโมเดลทางธุรกิจที่ยั่งยืนมาก่อน หรือไม่สามารถจัดการงานด้านบัญชีได้เลย บริษัทก็อาจไม่เกิดการเติบโตและอยู่รอดได้ยาก

การทำวิจัยตลาด 

บางบริษัทอาจทำการตลาดผิดกลุ่มเป้าหมาย หรือผลิตภัณฑ์อาจยุ่งยากซับซ้อนเกินกว่าที่ผู้เริ่มใช้งานจะเข้าใจได้ ดังนั้นธุรกิจต่าง ๆ ควรมองให้เห็น “ปัญหา” หรือ Pain Points ที่แท้จริงของลูกค้า และทดสอบผลิตภัณฑ์กับกลุ่มเป้าหมาย เรียนรู้จากข้อผิดพลาด ค้นหากลุ่มลูกค้าที่เหมาะสม และพัฒนาแคมเปญการตลาดให้ตรงใจพวกเขามากที่สุด 

ลูกค้าส่วนใหญ่มักจะมีแบรนด์โปรดในใจอยู่แล้ว ดังนั้นความท้าทายใหญ่สำหรับบริษัทสตาร์ทอัพ คือ จะทำการตลาดอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เพื่อดึงดูดให้ผู้คนเหล่านั้นหันมาลองใช้สินค้าของคุณ

ความรู้ทางด้านการเงิน

การวางแผนทางการเงินที่ไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความล้มเหลวในการหาเงินทุนสำรอง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สตาร์ทอัพในไทยไปไม่ถึงฝั่งฝัน ไม่ว่าผลิตภัณฑ์ของคุณจะมีประสิทธิภาพมากเพียงใด แต่อย่าลืมว่า กว่าสินค้าจะออกไปสู่ตลาดได้นั้น ระหว่างทางต้องใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้นผู้ประกอบการต้องวางแผนให้พร้อม ว่าจะดึงดูดนักลงทุนอย่างไรเพื่อทำให้ไอเดียเป็นจริงอย่างที่ตั้งใจไว้

หนทางสู่ความสำเร็จ

การจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่คุณต้องออกจากกรอบเดิม ๆ ที่เคยทำมาตลอด แม้สัญชาตญาณอาจคอยบอกให้คุณเลือกเส้นทางที่ “ปลอดภัยกว่า” แต่การที่จะประสบความสำเร็จได้ คุณต้องกล้าที่จะเดินในหนทางที่ยากลำบากเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นการเรียนภาษาอังกฤษเพิ่ม ฝึกทักษะการนำเสนอ ศึกษาตลาด จ้างคนที่เชี่ยวชาญในสิ่งที่คุณไม่รู้ เปิดกว้างให้ความคิดสร้างสรรค์นำคุณไปสู่สิ่งใหม่ ๆ รับฟังคำวิจารณ์จากเพื่อนร่วมทีมและความคิดเห็นของลูกค้าเพื่อนำมาปรับปรุงกลยุทธ์ของคุณ 

การเริ่มทำสตาร์ทอัพไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจมีอุปสรรคหลายประการ แต่ทุก ๆ สิ่งไม่มีทางลัดสู่ความสำเร็จ คุณต้องเรียนรู้ที่จะหาข้อผิดพลาดแล้วลงมือแก้ไข หมั่นหาความรู้และโอกาสทางธุรกิจอยู่เสมอ เพื่อความสำเร็จของสตาร์ทอัพในอนาคต

Share this article

Subscribe to InnoHub!

Stay updated and inspired

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ