การเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) แนวทางการลงทุนรูปแบบใหม่เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

July 14, 2023

ภาวะโลกร้อน หรือ Climate Change กลายเป็นความท้าทายเร่งด่วนที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะผู้บริโภคและองค์กรหลายแห่งที่ต่างก็คำนึงถึงปัจจัยดังกล่าวเมื่อต้องการนำเงินไปลงทุนหรือจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกี่ยวกับความยั่งยืน หรือ Sustainable Financing ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาดูกันดีกว่าว่าแนวคิดแห่งโลกอนาคตนี้คืออะไร

Sustainable Finance คืออะไร

Sustainable Finance หรือ การเงินเพื่อความยั่งยืน คือแนวทางการลงทุนในบริษัท องค์กร หรือโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยคำนึงถึงหลัก Environmental, Social, and Governance (ESG) หรือการใส่ใจในสิ่งแวดล้อม สังคม รวมถึงการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพโปร่งใส เพื่อบรรเทาความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความไม่เท่าเทียมทางสังคมในหลายมิติ

ตัวอย่างของการเงินเพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainable Finance มีด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น

  1. การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainable Foreign Direct Investment (SFDI) โดยเป็นการลงทุนข้ามชาติที่ประเทศพัฒนาแล้วมักสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในโครงการที่มีเป้าหมายด้าน ESG เช่น การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์และลม เป็นต้น
  1. การลงทุนโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม หรือ Socially Responsible Investing (SRI) โดยหมายถึงการที่นักลงทุนทั้งรายย่อยและนักลงทุนสถาบันจะพิจารณาปัจจัยด้านจริยธรรมก่อนตัดสินใจเลือกนำเงินไปลงทุนในธุรกิจนั้น ๆ  เช่น หลีกเลี่ยงการลงทุนในบริษัทผลิตอาวุธหรือยาสูบที่ส่งผลเสียต่อผู้คนในสังคมเป็นวงกว้าง
  1. การเงินสีเขียว หรือ Green Finance ซึ่งหมายถึงการสนับสนุนการเงินและการลงทุนให้กับองค์กรและภาคธุรกิจที่มุ่งเผชิญความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยมีหลายประเภทแยกย่อยลงไป เช่น หุ้นกู้เพื่อโครงการรักษาสิ่งแวดล้อม (Green Bond) กองทุนสีเขียว (Green Fund)  และ สัญญาเงินกู้เพื่อโครงการรักษาสิ่งแวดล้อม (Green Loan) เป็นต้น

สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Sustainable Finance

เมื่อสำรวจดูตัวเลขสถิติเกี่ยวกับการเงินเพื่อความยั่งยืนแล้วก็จะพบว่าแนวทางการลงทุนแห่งโลกอนาคตนี้กำลังได้รับความนิยมเพิ่มยิ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยรายงานจาก Refinitiv บริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการเงินและการจัดการความเสี่ยงระดับโลก เผยว่า ในปี ค.ศ. 2021 การลงทุนแบบ Sustainable Finance มีมูลค่าสูงเกินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเรียบร้อยแล้ว

ในปี 2021 มีการออกหุ้นกู้เพื่อโครงการรักษาสิ่งแวดล้อม (Green Bond) มากกว่า 1,000 รายการซึ่งถือเป็นการเติบโตขึ้นมากกว่า 20 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2015 นอกจากนี้ สัญญาเงินกู้เพื่อโครงการรักษาสิ่งแวดล้อม (Green Loan) ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยแตะ 717 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเรียบร้อยแล้วในปี 2021 ขณะเดียวกัน มูลค่าหุ้นของบริษัทที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนก็สูงขึ้น 43 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่า 48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทำไมองค์กรจึงควรให้ความสำคัญกับ Sustainable Finance

หนึ่งในสาเหตุหลักที่ส่งผลให้การเงินเพื่อความยั่งยืนกลายเป็นแนวคิดที่ได้รับการพูดถึงและมีความนิยมเพิ่มมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องนั้นมาจากการที่ผู้บริโภคทั่วโลกเกินกว่า 50% ในยุคปัจจุบันต่างรู้สึกเป็นกังวลกับปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ Climate Change นอกจากนี้ ผลสำรวจปี 2023 จาก NielsenIQ บริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก เผยว่า ผู้บริโภคมากกว่า 46% ต้องการเห็นแบรนด์ต่าง ๆ และองค์กรภาคธุรกิจลุกขึ้นมาเป็นผู้นำริเริ่มการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืน

งานวิจัยพบว่าผู้บริโภคทั่วโลกที่มองว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ (Climate Change) เป็นเรื่อง “ซีเรียส” ที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโตของการเงินเพื่อความยั่งยืน คือ หน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ ที่ออกมาตรการและนโยบายด้าน ESG ที่เข้มงวดกว่าเดิมให้ภาคธุรกิจการเงินต้องนำไปบังคับใช้และปฏิบัติตาม ยกตัวอย่าง เช่น หลักเกณฑ์ 18 ข้อของคณะกรรมการด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงิน หรือ Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ

ในประเทศไทย บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ก็จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนให้นักลงทุนทราบเช่นกัน โดยมีตัวชี้วัดด้าน ESG หลายประการ เช่น แผนการบรรเทาความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อน รายได้จากผลิตภัณฑ์ที่สร้างโอกาสทางการเงินอย่างเท่าเทียม เป็นต้น

สำหรับทางธนาคารกรุงเทพเองก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของ Sustainable Finance และได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเพื่อพลังงานทดแทน สินเชื่อเพื่อการปรับตัวสำหรับธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กองทุนเพื่อความยั่งยืน เป็นต้น เพราะเราต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้ประเทศและทำให้โลกใบนี้สามารถเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว

Share this article

Subscribe to InnoHub!

Stay updated and inspired

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ