Term sheet ข้อเสนอเพื่อการลงทุน
เอกสารสำคัญที่จะพาสตาร์ทอัพสู่ความสำเร็จ
โดยทั่วไปแล้วผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพมักเริ่มต้นสร้างธุรกิจของตัวเองด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ มีแผนธุรกิจเตรียมพร้อมเพื่อจะให้บริษัทเข้าสู่ตลาด นอกจากนี้ ยังขับเคลื่อนด้วยทีมขนาดเล็กแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยทักษะในการปฏิบัติงานเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์อันน่าทึ่ง
ปัจจัยเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับผู้ประกอบกิจการ อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งอื่น ๆ อีกมากมายที่จำเป็นสำหรับสตาร์ทอัพที่ต้องการประสบความสำเร็จในอนาคต ได้แก่
- ระดับการระดมทุนที่เพียงพอสำหรับแต่ละขั้นตอนเริ่มต้น
- ความรู้และทักษะในการระดมเงินทุน
- มีเอกสารที่ครอบคลุมและมีโครงสร้างที่ดีเพื่อดึงดูดนักลงทุนที่มีศักยภาพ
ผู้ประกอบการโดยส่วนใหญ่อาจมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ไม่มากพอ และต้องเจอกับความท้าทายในการพัฒนาธุรกิจให้ก้าวสู่ขั้นต่อไป แต่บทความนี้ของ InnoHub จะมาช่วยให้เจ้าของสตาร์ทอัพทุกคนได้เตรียมพร้อมและเรียนรู้หนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการระดมทุนซึ่งก็คือ Term sheet หรือสัญญาที่จะมากำหนดเงื่อนไขสำคัญระหว่างผู้ประกอบการกับนักลงทุนนั่นเอง
Term sheet เกี่ยวกับสตาร์ทอัพอย่างไร
ในโลกของธุรกิจและการลงทุน เมื่อใดก็ตามที่เงินถูกเปลี่ยนมือ สัญญาจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวงการสตาร์ทอัพ เพราะการระดมทุนจะแบ่งออกหลายระดับ เช่น การระดมทุนในระดับ Pre-Seed การระดมทุนในระดับ Seed การระดมทุน Series A หรือ B และ การระดมทุน Series C
Term sheet ซึ่งจะกำหนดกรอบสำหรับสัญญานั้น ๆ และจะถูกส่งจากนักลงทุนไปยังผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ จึงกลายเป็นสิ่งที่เจ้าของกิจการต้องพบเจออยู่บ่อยครั้งในระหว่างการพัฒนาธุรกิจของบริษัทตัวเอง
แล้ว Term sheet คืออะไรกันแน่
Term sheet คือ ข้อตกลงเบื้องต้นระหว่างนักลงทุนกับสตาร์ทอัพเพื่อกำหนดเงื่อนไขการลงทุน โดยเริ่มแรกจะยังไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ร่างเอกสารออกมาพูดคุยเจรจากันก่อนที่จะทำสัญญาการลงทุนอย่างเป็นทางการต่อไป โดย Term sheet จะมีรายละเอียดต่าง ๆ มากมาย เช่น การประเมินมูลค่าของกิจการ สิทธิหน้าที่ของผู้ลงทุน คณะกรรมการบริษัท และข้อพิจารณาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายประการ
ในช่วงแรกของกระบวนการระดมทุน Term sheet จะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก กล่าวคือ เมื่อนักลงทุนได้ทำความรู้จักกับสตาร์ทอัพ โดย Term sheet จะกำหนดขั้นตอนต่อไปของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย เช่น การประชุมแบบตัวต่อตัว และ การตรวจสอบสถานะทางกฎหมายของกิจการ (Due diligence)
บททดสอบจากนักลงทุน
นักลงทุนต่างก็ระมัดระวังในการใช้เงินเช่นเดียวกันกับเจ้าของสตาร์ทอัพ เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงอยากลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาต้องศึกษาเกี่ยวกับตัวคุณและบริษัทสตาร์ทอัพของคุณ
ถึงแม้ว่าการจัดเตรียมการตรวจสอบสถานะทางกฎหมายของกิจการจะเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานและมีเอกสารจำนวนมาก แต่ก็เป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญสำหรับสตาร์ทอัพที่ต้องการระดมทุน
การตรวจสอบสถานะทางกฎหมายของกิจการเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนนำมาพิจารณา เช่นเดียวกับการประเมินมูลค่าโดยรวมของสตาร์ทอัพ โดยขั้นตอนจะเริ่มต้นด้วยคำอธิบายเกี่ยวกับบริษัทและผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอ กลยุทธ์ทางการเงินและการตลาด การดำเนินงานในปัจจุบัน กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมถึงผู้จัดหาสินค้า (Suppliers)
นอกจากนี้ การตรวจสอบสถานะทางกฎหมายของกิจการยังประกอบไปด้วยสิ่งสำคัญดังต่อไปนี้
- เอกสารเกี่ยวกับองค์กรและโครงสร้างการถือหุ้น ซึ่งรวมถึงรายงานการประชุมของคณะกรรมการและผู้ถือหุ้น รายชื่อผู้ถือหุ้น การลงทะเบียนภาษี และอื่น ๆ
- เอกสารทางการเงิน ซึ่งรวมถึงงบทางการเงินที่ตรวจสอบแล้วและที่ยังไม่ได้ตรวจสอบ และเอกสารทางการเงินและเงินกู้
- เอกสารที่สำคัญ โดยเฉพาะข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วน ข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดหา การบำรุง การขาย และการซื้อสินค้า สัญญาเช่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิและสัญญาธุรกิจแฟรนไชส์ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
- ทรัพย์สินของบริษัท ซึ่งรวมถึงเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินทางกายภาพและทรัพย์สินทางปัญญา และสินค้าคงคลังที่หมุนเวียน
- ใบอนุญาตที่ครอบคลุมทุกด้านของการดำเนินงานของบริษัท
- ข้อมูลทรัพยากรบุคคล ซึ่งรวมถึงจำนวนพนักงานทั้งหมด สัญญาจ้างงาน นโยบายทรัพยากรบุคคล ใบอนุญาตทำงาน และข้อพิพาทแรงงานในปัจจุบัน
- ข้อมูลเกี่ยวกับการประกันภัย โดยเฉพาะประกันภัยสุขภาพของพนักงาน และประกันภัยของทรัพย์สิน
- ข้อมูลเกี่ยวกับคดีความที่ขณะนี้บริษัทเป็นผู้ฟ้องร้องเองหรือถูกผู้อื่นฟ้องร้อง ตลอดจนคดีความที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อนุญาโตตุลาการหรือการระงับข้อพิพาทนอกศาล รวมถึงการสอบสวนต่าง ๆ ที่สามารถส่งผลกระทบต่อบริษัทสตาร์ทอัพได้
เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มารวมกัน นักลงทุนจะเห็นภาพที่ชัดเจนของธุรกิจและการดำเนินงานได้มากขึ้น ดังนั้นสตาร์ทอัพที่มีการจัดการที่ดีในช่วงการตรวจสอบสถานะทางกฎหมายของกิจการจะสามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือและสร้างความประทับใจให้กับนักลงทุน
- พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลส่งผลต่อสตาร์ทอัพอย่างไร
- 7 เรื่องสำคัญทางกฎหมายและธุรกิจที่ Startup ควรเรียนรู้ก่อนออกสตาร์ท (บทที่ 1)
- 7 เรื่องสำคัญทางกฎหมายและธุรกิจที่ Startup ควรเรียนรู้ก่อนออกสตาร์ท (บทที่ 2)
เติบโตกว่าใครถ้าใส่ใจรายละเอียด
ผู้ประกอบการจำนวนมากมีความพยายามและตั้งใจแน่วแน่ในการสร้างธุรกิจของตัวเอง แต่อาจจะละเลยความสำคัญของงานธุรการเหล่านี้ แล้วปล่อยทิ้งไว้จนนาทีสุดท้าย
ธุรกิจส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องดูแลรายละเอียดเล็กน้อยให้ถูกต้องครบถ้วน ดังนั้น บริษัทสตาร์ทอัพที่ต้องการเห็นธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด จึงควรทำความเข้าใจเอกสารทางกฎหมายแสนสำคัญอย่าง Term sheet และ การตรวจสอบสถานะทางกฎหมายของกิจการ ให้ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อสร้างความประทับใจแก่นักลงทุน
การประสบความสำเร็จในขั้นตอนการระดมทุนต่าง ๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่สตาร์ทอัพจะสามารถรับรองความมั่นคงทางการเงินของตัวเองได้ การทำข้อตกลงและเงื่อนไขการลงทุน หรือ Term sheet อย่างระมัดระวังตั้งแต่ต้นจึงนับเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะหากในอนาคตเกิดเหตุไม่คาดฝันที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เอกสารฉบับนี้จะกลับมาช่วยสตาร์ทอัพไม่ให้เสียเปรียบทางธุรกิจหรือสูญเสียการครอบครองกิจการ และสามารถมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปได้อย่างราบรื่น