AI จะเข้ามาแทนที่แพทย์หรือไม่ ?
แม้ว่ามนุษย์จะเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สุด แต่ผลการวิจัยต่าง ๆ พบว่ามีงานบางประเภทที่ AI สามารถทำได้ดีกว่า ทั้งในแง่ของความรวดเร็วและความแม่นยำ
ในปี 2017 มหาวิทยาลัยคอร์เนลเผยว่า AI สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมได้อย่างแม่นยำกว่านักพยาธิวิทยาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเสียอีก ซึ่งมีความถูกต้องและแม่นยำถึง 92.4% ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์มีระดับความแม่นยําเพียง 73.2% เท่านั้น
ต้นทุนเรื่องเวลาและเงินก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เป็นที่ทราบกันดีว่ากว่าแพทย์คนหนึ่งจะได้รับใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพนั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายในการเรียนสูงมาก และถึงแม้จะสั่งสมประสบการณ์มามากแค่ไหน ก็ยังต้องใช้เวลาหลายนาทีกว่าผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจจะอ่านค่า MRI ได้ ซึ่งต่างจากการทำงานของซอฟต์แวร์บนคอมพิวเตอร์ที่สามารถวิเคราะห์ผลที่สมบูรณ์ได้โดยใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาที
หากไม่มีคอมพิวเตอร์หรือเครื่องคำนวณคอยช่วยแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน เราก็อาจจะเกิดความสับสนหรือขาดความมั่นใจเมื่อไม่มีเทคโนโลยีให้พึ่งพา คำถามที่ตามมา คือ เราสามารถให้คอมพิวเตอร์ทำงานด้านการแพทย์แทนมนุษย์ และเก็บทักษะของมนุษย์ไว้สำหรับงานส่วนที่อาจจะไม่ซับซ้อนมากแทนได้จริงหรือ?
AI สมัยใหม่กับการใช้งานและข้อจำกัด
AI ทำงานโดยการวิเคราะห์ชุดข้อมูลเพื่อสร้างอัลกอริทึมของตัวเอง ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้ซอฟต์แวร์เรียนรู้รูปแบบของข้อมูลได้ในทันทีและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับแนวทางต่าง ๆ ในอนาคต จากความก้าวหน้าล่าสุดทำให้ AI และระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในการทำงานหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านธุรการที่ทำอย่างซ้ำไปซ้ำมา เช่น การยื่นแบบฟอร์มผู้ป่วย เป็นต้น
ในทางทฤษฎี เรายังสามารถตั้งโปรแกรมให้ AI ทำหน้าที่ใดก็ได้ผ่านการประมวลข้อมูลสารสนเทศ หรือ Information Processing เช่น การวิเคราะห์ภาพเอ็กซ์เรย์และการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ โดยการให้ AI เรียนรู้จากการทำงานที่ซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งถือเป็นการช่วยฝึกฝนให้ AI มีความสามารถในการวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องและแม่นยำขึ้น เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา เจฟฟรีย์ ฮินตัน หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้าน AI กล่าวไว้ว่า “เห็นได้ชัดว่าเราควรหยุดฝึกฝนรังสีแพทย์ได้แล้ว” เพราะอัลกอริทึมสามารถวิเคราะห์ผลการสแกนได้ดีกว่ามนุษย์
หรือเทคโนโลยี AI จะมาแทนที่แพทย์?
คำตอบในมุมมองนี้คือ ไม่เสมอไป เพราะมีหลายสิ่งที่ AI ยังไม่สามารถมาแทนที่แพทย์ได้ เนื่องจากรังสีแพทย์ไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่ดูภาพสแกนเท่านั้น แต่พวกเขายังต้องตรวจสอบประวัติของคนไข้ เพื่อวางแผนวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยไปพร้อมกับการให้คำปรึกษาผู้ป่วย ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่สภาพจิตใจอ่อนแอและต้องการคำแนะนำมากที่สุดด้วย เพราะคุณค่าของการดูแลสุขภาพ (Healthcare) มาจากการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ที่เกิดขึ้นระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ที่แพทย์ต้องสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่น รวมถึงสามารถให้ความช่วยเหลือและให้กำลังใจผู้ป่วยในระหว่างรับการรักษาได้
ซึ่งในทางตรงกันข้าม หากผู้ป่วยต้องพูดคุยแต่กับระบบตอบรับอัตโนมัติ ก็อาจไม่รู้สึกมั่นใจเหมือนกับการได้พูดคุยกับแพทย์โดยตรง
ไม่ว่าจะเทคโนโลยีหรือแพทย์เองต่างก็มีข้อจำกัด เราจึงควรอาศัยการผสมผสานเติมเต็มซึ่งกันและกันระหว่างข้อมูลเชิงลึกจากมนุษย์และเทคโนโลยี เพื่อช่วยส่งเสริมจุดแข็งและลดจุดอ่อน ดังนั้นการตระหนักถึงคุณค่าในประโยชน์เฉพาะตัวของมนุษย์และซอฟต์แวร์ จะช่วยให้อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพสามารถใช้ประโยชน์จากสองสิ่งนี้ได้อย่างเต็มที่
เครื่องมือวินิจฉัยโรคด้วย AI มีความก้าวหน้าและสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น และกำลังจะได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ว่าเครื่องมือเหล่านี้อาจเข้ามาทำหน้าที่ในการช่วยวิเคราะห์ภาพและวินิจฉัยโรคในหลายกรณี แต่ในส่วนขั้นตอนการรักษาอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งก่อนและหลังจากการวินิจฉัยโรค ก็จะยังคงต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไปอีกนาน