AI ช่วยปลดล็อกความคิด หรือปิดสวิตช์สมอง?

กรกฎาคม 25, 2025

ทุกวันนี้ เราใช้ AI มากขึ้นในหลายด้าน ตั้งแต่การเรียน การทำงาน ไปจนถึงการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องมือเหล่านี้ตอบโจทย์ทั้งความเร็วและความสะดวก จนหลายคนเริ่มคุ้นเคยกับการ “ให้ AI คิดแทน” ไปโดยไม่รู้ตัว

แต่นักวิจัยและนักวิชาการจำนวนมากเริ่มตั้งคำถามว่า ถ้าเราฝากการคิดให้ AI มากเกินไป จะเกิดอะไรขึ้นกับสมองเรา? เครื่องมือเหล่านี้ช่วยให้เราเก่งขึ้นจริง หรือกำลังค่อย ๆ ทำให้ทักษะการคิดและความสร้างสรรค์ของเราอ่อนแอลงโดยไม่รู้ตัวกันแน่?

AI ช่วย ‘ปลดล็อก’ ความคิดได้จริงไหม?

ทั้ง Generative AI ที่เหมาะสำหรับงานสร้างสรรค์ และ Agentic AI ที่มีความสามารถในการตัดสินใจด้วยตัวเอง ต่างมีส่วนช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของมนุษย์ เครื่องมือเหล่านี้สามารถช่วยให้มนุษย์คิดได้อย่างลึกซึ้งและเรียนรู้ได้เร็วขึ้น

  • ลดงานซ้ำซาก เปิดพื้นที่ให้คิดสิ่งที่สำคัญกว่า

เราสามารถใช้เครื่องมือ AI ในการช่วยลดภาระงานที่น่าเบื่อ เช่น การคำนวณหรือสรุปรายงาน ทำให้เราเหลือเวลาไปจดจ่อกับการคิดเชิงสร้างสรรค์ การวิเคราะห์ และการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น

  • ช่วยให้เรื่องยากเข้าใจง่ายขึ้น

ในการศึกษาสาย STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี  วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) การใช้ AI เพื่อสร้างภาพจำลองและอธิบายแนวคิดซับซ้อนช่วยให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาเร็วขึ้น ลดภาระจำที่เกินจำเป็น และเพิ่มอัตราการมีส่วนร่วมในห้องเรียน

  • เพิ่มความคิดสร้างสรรค์…ถ้าใช้เป็น

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยทูเลน (Tulane University) ในรัฐลุยเซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า AI สามารถช่วยให้คนสร้างไอเดียใหม่ ๆ ได้มากขึ้น แต่ต้องเป็นคนที่มีทักษะการรู้คิด (Metacognition) คือรู้จักคิดวิเคราะห์  วางแผนเป็น ประเมินงานของตัวเองอย่างมีวิจารณญาณ และใช้เครื่องมืออย่างชาญฉลาด จึงจะได้ประโยชน์จาก AI มากที่สุด

ความสร้างสรรค์ถูก ‘ปิดสวิตช์’ เพราะฝากให้ AI คิดแทน

ในทางกลับกัน หากใช้ไม่ถูกวิธี AI ก็มีผลข้างเคียงต่อการเรียนรู้และทักษะการคิดของมนุษย์ในระยะยาวได้เช่นกัน โดยล่าสุดมีงานวิจัยจากสถาบัน MIT (Massachusetts Institute of Technology) มหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีชั้นนำในสหรัฐอเมริกา ศึกษาพบสัญญาณน่ากังวลหลายอย่างจากการพึ่งพา AI มากจนเกินไป

  • การทำงานของสมองและความคิดสร้างสรรค์ลดลง

งานวิจัยดังกล่าวจาก MIT ใช้เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalography: EEG) ตรวจสมองนักเรียนที่ให้ ChatGPT เขียนเรียงความตั้งแต่ต้น พบว่ากิจกรรมสมองส่วนความจำและความคิดเชื่อมโยงลดลง พวกเขาเริ่ม “ลอก” มากกว่าคิดด้วยเอง และความรู้สึกเป็นเจ้าของผลงานก็ค่อย ๆ ลดหายไปด้วย

  • เกิด “หนี้ทางความคิด” ที่ต้องจ่ายในอนาคต

เมื่อเราพึ่งพาเครื่องมือ AI มากเกินไป ผลงานที่ได้อาจมีอคติ (Bias) และให้ข้อมูลเพียงผิวเผินเท่านั้น ซึ่งทีมวิจัยชี้ว่าพฤติกรรมลักษณะนี้ทำให้เกิดการสะสมของ “หนี้ทางความคิด” (Cognitive Debt) คือเมื่อสมองไม่ได้ถูกกระตุ้นให้คิดซ้ำ ๆ มันจะทำงานน้อยลงเรื่อย ๆ ทำให้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์และการจดจำลดลงเมื่อเวลาผ่านไป

  • สูญเสียเอกลักษณ์เฉพาะตัว

นอกจากงานวิจัยจาก MIT แล้ว การศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) และ มหาวิทยาลัยซานตาคลารา (Santa Clara University) ยังช่วยยืนยันว่าเนื้อหาที่สร้างด้วย AI มักจะออกมามีรูปแบบคล้ายกัน เพราะเครื่องมือเหล่านี้เรียนรู้จากค่าเฉลี่ยของข้อมูลมหาศาล ทำให้เอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือมุมมองทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคลเลือนหายไป

แล้วควรใช้ AI แบบไหน?

คนที่ใช้ AI อย่างสร้างสรรค์ได้ดีที่สุด คือคนที่ตั้งคำถามกับคำตอบของ AI ทบทวนหรือตรวจสอบผลลัพธ์ที่ได้มา และปรับปรุงให้เหมาะสมกับจุดประสงค์ ไม่ใช่เพียงรอรับคำตอบสำเร็จรูปและนำไปใช้โดยไม่กลั่นกรอง

นอกจากนี้ เราไม่ควรปล่อยให้กระบวนการคิดทั้งหมดขึ้นอยู่กับ AI เพียงอย่างเดียว งานวิจัยของ MIT พบว่าการหันเข้าหา AI ตั้งแต่ขั้นตอนแรกสุด เช่น ให้ AI เขียนแทนโดยเริ่มจากศูนย์ อาจส่งผลต่อสมองและทักษะมากกว่า เพราะสมองประมวลผลแบบผิวเผิน ไม่ได้เชื่อมโยงกับความรู้เดิม ทำให้จำเนื้อหาไม่ได้ และไม่รู้สึกเป็นเจ้าของผลงาน

ในทางกลับกัน หากเราเริ่มคิดเองก่อน จากนั้นค่อยให้ AI แก้ไขหรือช่วยต่อยอดไอเดียต่อไป สมองจะถูกกระตุ้น จดจำและเข้าใจเนื้อหาได้ดีกว่า แม้จะมีการนำเครื่องมือเข้ามาช่วยในภายหลังก็ตาม

AI เป็นโอกาส ถ้าเราใช้มันอย่างฉลาด

ท้ายที่สุดแล้ว AI จะเป็นคุณหรือโทษนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราใช้มันอย่างไร และใช้เมื่อไหร่

เครื่องมือที่เป็นเหมือนดาบสองคมนี้สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และเปิดโอกาสให้เราสร้างสิ่งใหม่ได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าใช้ผิดวิธี เราอาจกำลังปล่อยให้ความสร้างสรรค์อันเป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์เสื่อมสภาพลงไปโดยไม่รู้ตัว

ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับทางเลือกของเราเองว่าจะปล่อยให้ AI มีพื้นที่มากแค่ไหนในกระบวนการคิดของเรา

Share this article

กดติดตาม InnoHub

เพื่อรับข้อมูลข่าวสารและแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ