ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของโลกดิจิทัล ที่แทบจะเปรียบได้กับถนน ไฟฟ้า หรืออินเทอร์เน็ตเลยทีเดียว แต่ในความเป็นจริง รากฐานของ AI ส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังอยู่ในมือของบริษัทเพียงไม่กี่รายเท่านั้น
งานวิจัยของ Oxford Internet Institute เปิดเผยว่า มากกว่าครึ่งของศูนย์ข้อมูลที่รองรับ AI ระดับสูง (AI Accelerator-Enabled Data Centers) ตั้งอยู่ใน 3 ภูมิภาค คือ สหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป และมีเพียง 33 ประเทศเท่านั้นที่มีศูนย์ข้อมูลระดับนี้
ยิ่งไปกว่านั้น ศูนย์กลางการประมวลผล AI (AI Computing Hubs) ราว 87 แห่ง หรือกว่า 2 ใน 3 ของศูนย์ทั่วโลก ถูกควบคุมโดยบริษัทอเมริกัน ขณะที่ 39 แห่งอยู่ภายใต้บริษัทจีน และเพียง 6 แห่งอยู่ในมือบริษัทยุโรป ที่สำคัญ ชิปประมวลผลส่วนใหญ่ที่ใช้ฝึกโมเดล AI ระดับสูงยังผลิตโดย Nvidia เพียงรายเดียว
เมื่ออำนาจการคำนวณและชุดข้อมูลสำคัญอยู่ในมือของบริษัทไม่กี่ราย นั่นหมายถึง รัฐบาลขนาดเล็ก มหาวิทยาลัย และสตาร์ทอัพในประเทศกำลังพัฒนาอาจเข้าถึง AI ขั้นสูงได้ยาก ต้องเช่าใช้จากศูนย์ข้อมูลต่างประเทศ ซึ่งไม่เพียงต้นทุนสูง แต่ยังเสี่ยงต่อความล่าช้า ความซับซ้อนของกฎหมายระหว่างประเทศ และความไม่แน่นอนจากนโยบายบริษัทต่างชาติ จึงเกิดเป็นแนวคิดในการทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้าน AI กลายเป็น “ของส่วนรวม” ขึ้นมา
โครงสร้างพื้นฐาน AI สาธารณะคืออะไร?
แนวคิดโครงสร้างพื้นฐาน AI สาธารณะ หรือ Public AI Infrastructure คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน AI แบบเปิดและตรวจสอบได้ ซึ่งสร้างหรือดูแลโดยหน่วยงานสาธารณะ เช่น รัฐบาล องค์กรระหว่างประเทศ หรือสถาบันวิจัย เป้าหมายเพื่อสร้างแหล่งทรัพยากรที่ทุกคนเข้าถึงและนำไปต่อยอดได้ รวมถึงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ตัวอย่างจากต่างประเทศ
ยุโรปกับโครงสร้างสาธารณธะเพื่อสื่อ
สหภาพการแพร่สัญญาณวิทยุและโทรทัศน์แห่งยุโรป (European Broadcasting Union: EBU) เรียกร้องให้มีโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์และ AI ที่โปร่งใสสำหรับสื่อสาธารณะ เพื่อลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มเชิงพาณิชย์จากต่างชาติ
ในการประชุม European Broadcasting Union (EBU) เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2568 สมาชิกได้เสนอให้มีการพัฒนาโครงสร้างคลาวด์และ AI ที่อยู่ภายใต้กฎหมายยุโรปเอง ลดความเสี่ยงด้านข้อมูล และสร้างความยั่งยืนระยะยาว
โดยมีแนวคิดการใช้สถาปัตยกรรม Hybrid Cloud ที่โปร่งใสและเชื่อมโยงได้กับระบบอื่น พร้อมทั้งจับมือกับ NVIDIA เพื่อสร้างเครื่องมือ AI ที่สถานีโทรทัศน์และวิทยุสาธารณะของทุกประเทศสมาชิกสามารถใช้ร่วมกันได้
อินเดียกับโครงสร้าง AI สาธารณะแห่งแรก
อินเดียก้าวไปอีกขั้น เมื่อรัฐเตลังคานาเปิดตัว TGDeX (Telangana Government Data Exchange) หรือโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ที่ควบคุมโดยรัฐแห่งแรกของประเทศ
ภายในโครงการจะประกอบไปด้วยชุดข้อมูลสาธารณะคุณภาพสูง ที่เปิดให้สตาร์ทอัพ มหาวิทยาลัย และหน่วยงานรัฐเข้าถึงได้ ปัจจุบันมีชุดข้อมูลสาธารณะกว่า 500 ชุด จากหลากหลายหน่วยงานรัฐ และมีโมเดล AI ที่เปิดให้นำไปต่อยอดได้กว่า 360 โมเดล โดย TGDeX ตั้งเป้าที่จะเพิ่มชุดข้อมูลให้ถึง 2,000 ชุดภายใน 5 ปีข้างหน้า
แพลตฟอร์มนี้จึงจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนชุดข้อมูลคุณภาพสูงที่พร้อมใช้ได้จริง และช่วยให้สตาร์ทอัพหรือหน่วยงานท้องถิ่นสามารถพัฒนานวัตกรรมได้ในต้นทุนที่ต่ำลง
ข้อควรระวังที่ไม่ควรมองข้าม
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยเตือนว่า โครงสร้างพื้นฐานอาจกำลังพัฒนาไปเร็วกว่ากรอบกำกับดูแล แม้หลายประเทศจะเร่งลงทุนสร้างศูนย์ประมวลผลและแพลตฟอร์มข้อมูลสาธารณะเพื่อให้เข้าถึง AI ได้อย่างเท่าเทียม แต่หากขาดมาตรการกำกับด้านความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย และจริยธรรม โครงสร้าง AI สาธารณะ ก็อาจซ้ำรอยปัญหาที่เกิดกับภาคเอกชน เช่น การผูกขาด การใช้ทรัพยากรอย่างไม่โปร่งใส และการขยายความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี ดังนั้น การสร้าง AI สาธารณะต้องดำเนินควบคู่กับการออกกฎหมายและมาตรฐานกำกับดูแลที่โปร่งใสและเท่าเทียม เพื่อป้องกันการใช้ AI ในทางที่เป็นภัยต่อสังคมหรือความมั่นคงของรัฐ รวมถึงให้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกระจายสู่ทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
โอกาสของประเทศไทย
โครงสร้างพื้นฐาน AI สาธารณะ คือกลไกสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงทรัพยากร AI เปิดโอกาสให้บริษัทเกิดใหม่จากประเทศขนาดเล็กสามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม อีกทั้งยังสร้างความน่าเชื่อถือและความโปร่งใส เพราะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐหรือองค์กรสาธารณะ แทนที่จะถูกผูกขาดโดยบริษัทเอกชนไม่กี่ราย ในขณะเดียวกันยังช่วยผลักดันให้สตาร์ทอัพและนักวิจัยพัฒนานวัตกรรมได้โดยไม่ต้องแบกรับต้นทุนโครงสร้างที่สูงลิ่ว และลดการพึ่งพาบริษัทต่างชาติที่อาจเปลี่ยนนโยบายได้ทุกเมื่อ
สำหรับประเทศไทย ซึ่งมีรากฐานโครงสร้างดิจิทัลที่แข็งแรงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น PromptPay, Digital ID หรือฐานข้อมูลภาครัฐอย่าง data.go.th นี่อาจเป็นจังหวะสำคัญในการศึกษาแนวคิดโครงสร้างพื้นฐาน AI สาธารณะ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ควบคู่ไปกับการวางกรอบกฎหมายและมาตรการกำกับดูแลที่รัดกุม หากเดินเกมได้ทัน ประเทศไทยอาจก้าวขึ้นมาเป็นตัวอย่างของประเทศที่สามารถผลักดันให้ AI กลายเป็นทรัพยากรสาธารณะของคนทั้งชาติได้อย่างแท้จริง