เมื่อโลกเข้าสู่ยุค Digital HR บทบาทสำคัญของ AI ที่มีผลต่อการบริหารทรัพยากรบุคคล

April 10, 2023

ปัจจุบัน การเฟ้นหาบุคลากรที่เหมาะสมกับงานถือเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร เพราะนอกจากทางทีมบริหารทรัพยากรบุคคลหรือที่รู้จักกันในชื่อ HR (Human Resource) จะต้องใช้เวลาในการพิจารณาและคัดกรองผู้สมัครหลายขั้นตอนอย่างถี่ถ้วนแล้ว ในแง่ของธุรกิจที่ผลงานของพนักงานมีผลต่อการพัฒนาองค์กรโดยตรง กระบวนการคัดเลือกทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจได้สำเร็จ

โดยข้อมูลจาก Guidance Talent พบว่าครึ่งหนึ่งของ HR มักจะประสบปัญหาในการค้นหาบุคลากรที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน และ 63% มักจะต้องเจอกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะทาง นอกจากนี้ HR อีก 76% ยังพบว่าการดึงดูดผู้สมัครงานที่เหมาะสมก็ถือเป็นเรื่องยากพอสมควร ในขณะเดียวกันผู้สมัครงานที่มีทักษะพิเศษมากถึง 70% ยังไม่กระตือรือร้นที่จะหางานหรือสมัครงานใหม่ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการที่จะหาใครสักคนมาทำในตำแหน่งที่องค์กรต้องการ

ด้วยเหตุนี้เอง Artificial Intelligence (AI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ จึงถูกพัฒนาให้เข้ามาช่วยในกระบวนการต่าง ๆ ของการบริหารทรัพยากรบุคคลได้ตั้งแต่ในเรื่องของการค้นหาผู้ที่มีศักยภาพสูง ไปจนถึงการสัมภาษณ์และปฐมนิเทศพนักงานใหม่ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นตัวช่วยเสริมกำลังและลดเวลาในการทำงาน ซึ่งจะส่งผลให้ HR สามารถโฟกัสไปที่การเพิ่มคุณค่าและค้นหาบุคลากรที่เหมาะสมที่สุดให้กับองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรายงาน Global Talent Trends จากบริษัทผู้ให้คำปรึกษาชั้นนำระดับโลก Mercer เผยว่า ฝ่าย HR ขององค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกราว 88% เริ่มนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการทำงานแล้วในปัจจุบัน

ในบทความนี้ InnoHub ขอพาทุกคนมาดูกันว่าประโยชน์ของ AI ที่มีต่อกระบวนการค้นหาและว่าจ้างบุคลากรนั้นมีอะไรบ้าง และเราจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรได้อย่างไร

AI ถูกนำมาใช้อย่างไรกับการบริหารทรัพยากรบุคคล

1. สัมภาษณ์งานโดยบอต บอตหรือหุ่นยนต์จะได้รับการเทรนด้วยเทคนิคประมวลผลภาษาธรรมชาติ(NLP) และถูกป้อนข้อมูล Interview Analytics อื่น ๆ ลงไปเพื่อประเมินความเหมาะสมของผู้สมัครโดยพิจารณาจากทักษะและบุคลิกภาพ และด้วยความสม่ำเสมอและเท่าเทียมของระบบหุ่นยนต์นั้นเอง จึงช่วยลดปัญหาเรื่องอคติ (Human Bias) ที่อาจเกิดขึ้นได้

2. ช่วยตรวจสอบประวัติข้อมูลผู้สมัคร ผลการสำรวจจากสมาชิกขององค์กร Society for Human Resource Management (SHRM) เผยว่าบริษัทกว่า 92% ใช้เวลาค่อนข้างมากในการตรวจสอบข้อมูลของผู้สมัครเพื่อลดความเสี่ยง แต่การหันมาเลือกใช้ระบบตรวจสอบภูมิหลังด้วย AI จะทำให้การคัดกรองและรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติการเล่นโซเชียลมีเดีย หรือประวัติอาชญากร สำเร็จได้อย่างรวดเร็ว

    3. ตรวจสอบข้อมูลอ้างอิงได้รวดเร็ว การตรวจสอบข้อมูลอ้างอิง (References) ก็คล้ายกับการตรวจสอบประวัติ และถือเป็นกระบวนการหนึ่งของการจ้างงานที่กินเวลาพอสมควร การนำ AI เข้ามาช่วยจึงสามารถจัดการและวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของคำอ้างอิงทั้งหมดได้ภายในเวลาอันสั้นโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นตอบอีเมล ทั้งนี้ เพื่อให้ HR สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจได้เร็วยิ่งขึ้น

    4. สรรหาบุคลากรจากภายใน ในองค์กรขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยบริษัทในเครือมากมาย มีอยู่หลายครั้งที่เกิดการโยกย้ายพนักงานกันเอง ซึ่งข้อมูลจาก IBM บริษัทผู้ให้บริการด้านสารสนเทศเผยว่าการใช้ AI จะช่วยระบุคนภายในองค์กรที่มีศักยภาพตรงกับตำแหน่งที่กำลังเปิดรับอยู่ได้ เนื่องจากประวัติการทำงานและทักษะของพนักงานแต่ละคนจะถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลองค์กรเองอยู่แล้ว

    5. ประเมินความแข็งแกร่งของทีม AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินความสามารถของบุคลากรภายในทีมได้ด้วยการใช้ Data Analytics ซึ่งเอื้อให้ HR สามารถระบุทักษะและความสามารถของแต่ละคนได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นประโยชน์ต่อองค์กรที่กำลังจะจัดตั้งโปรเจกต์พิเศษหรือต้องการมอบหมายงานที่ท้าทาย

    6. อบรมพนักงานใหม่ ปัจจุบันมีหลายองค์กรที่เลือกใช้บอต AI ในการอบรมและปฐมนิเทศพนักงานเข้าใหม่ โดย AI สามารถโต้ตอบและตอบคำถามที่พบเจอบ่อย รวมถึงให้คำแนะนำกับผู้ที่เพิ่งเริ่มทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    7. วิเคราะห์ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับทักษะ AI สามารถค้นหาและเก็บชุดข้อมูลที่เกี่ยวกับอัตราค่าจ้างจากทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้ โดยสามารถแยกทักษะและวิเคราะห์ประสบการณ์การทำงานต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับค่าตอบแทนที่พนักงานไม่ว่าจะใหม่หรือเก่าควรจะได้รับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ HR สามารถเพิ่มเงินเดือนหรือเสนอผลประโยชน์ที่ดึงดูดและเป็นธรรมในการจ้างงาน

    ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามามีบทบาทในการบริหารทรัพยากรบุคคลเท่านั้น ถึงแม้จะมีหลายฝ่ายที่กังวลว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาทดแทนการทำงานของ HR หรือไม่ก็ตาม แต่อย่าลืมว่าการทำงานของ AI ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำงานได้ตามลำพังโดยปราศจากการป้อนข้อมูลและคำสั่งจากมนุษย์ ดังนั้นสำหรับผู้ประกอบการและคนทำงานแล้ว ถือเป็นเรื่องดีที่เราจะศึกษาและใช้ประโยชน์จากเครื่องมือเหล่านี้ ซึ่งสุดท้ายจะทำให้องค์กรสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงต่อไปในโลก Digital HR ที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญนั่นเอง

    Share this article

    Subscribe to InnoHub!

    Stay updated and inspired

    เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ