วันนี้ตาม InnoHub มาสำรวจข้อมูลและสถานการณ์ล่าสุดกันดีกว่าว่า การชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลประเภทต่าง ๆ ในประเทศไทยกำลังก้าวหน้าไปขนาดไหนแล้ว และจะมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบหรือไม่
การชำระเงินดิจิทัล (Digital Payment) ของไทย (อัปเดต 2567)
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาโดยเฉพาะนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเมื่อปี 2562 เทคโนโลยีการชำระเงินดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็วราวกับติดจรวด และผู้คนทั่วโลกรวมถึงประชาชนชาวไทยยังให้ความสนใจและพร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองตามเทรนด์นี้อีกด้วย โดยปัจจุบันมีมูลค่าการทำธุรกรรมด้วยนวัตกรรมการชำระเงินยุคใหม่ดังกล่าวเป็นตัวเลขสูงถึงกว่า สามหมื่นเก้าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,400 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นในอัตราเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ 7.5% ภายในปี 2571
ยิ่งไปกว่านั้น รายงานประจำปี 2565 เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาระบบชำระเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ยังพบว่า ผู้คนนิยมจับจ่ายใช้สอยด้วยการวิธีชำระเงินดิจิทัลมากขึ้นกว่า 5 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการใช้แอปพลิเคชันของสถาบันการงิน การใช้บัตรเครดิตหรือเดบิตเพื่อแตะจ่ายที่เครื่อง หรือหักเงินผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งสวนทางกับการทำธุรกรรมรูปแบบดั้งเดิมที่ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง เช่น การถอนและพกพาเงินสด การใช้เอกสารสั่งจ่ายอย่างเช็ค เป็นต้น นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นอับดับหนึ่งของโลกด้านการใช้งานแอปพลิเคชัน Mobile Banking บนโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟน แถมยังสามารถดำเนินชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งเงินสดเลยได้นานถึงเกือบ 10 วันอีกด้วย!
2 ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเป็นสังคมไร้เงินสดของไทย
- การแพร่ระบาดของโควิด-19 : แม้ว่าวิกฤตไวรัสโคโรนาเมื่อปี 2562 จะพรากชีวิตของผู้คนไปมากมาย แต่อีกมุมหนึ่ง เหตุการณ์ก็กลับกลายเป็นโอกาสให้อีกหลายคนทั่วโลกโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลาง สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินยุคดิจิทัล หรือ Digital Payment ที่ทันสมัยและสะดวกรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม โดยธนาคารโลก (World Bank) ได้สำรวจพบว่า มีกลุ่มตัวอย่างวัยผู้ใหญ่มากถึง 40% ที่เพิ่งเคยจับจ่ายซื้อของด้วยการใช้สมาร์ตโฟน บัตร หรืออินเตอร์เน็ตเป็นครั้งแรกหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 นอกจากนี้ Visa บริษัทด้านการเงินระดับโลก ประเมินว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วยให้ผู้บริโภคชาวไทยมีความหวังว่าประเทศจะเดินไปสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดได้ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
- การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยี : ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการให้บริการอินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุมทั่วถึง คุณภาพสูง และสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย โดยสถิติเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมานั้น ชาวไทยประมาณ 54 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 70 ล้านคน มีอินเตอร์เน็ตใช้งานในชีวิตประจำวัน หรือคิดเป็นอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต (Internet Penetration) ที่สูงถึง 77.8% เลยทีเดียว นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 นี้มีจำนวนประมาณ 58 ล้านคน ปัจจัยรากฐานเหล่านี้จึงส่งผลให้เทคโนโลยีการชำระเงินรูปแบบดิจิทัลเติบโตในประเทศไทยจนสามารถก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงิน หรือ Cashless Society ในอนาคตได้นั่นเอง
3 รูปแบบการชำระเงินดิจิทัลยอดนิยมในประเทศไทย
- การใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตทางออนไลน์ : รายงานจาก Visa ผู้ให้บริการด้านการชำระเงินอันดับต้น ๆ ของโลก ค้นพบว่าวิธีการทำธุรกรรมแบบไร้เงินสดที่คนไทยนิยมมากที่สุด คือ การหักเงินจากบัตรต่าง ๆ เมื่อซื้อของบนแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้ง E-Commerce และช่องทางโซเชียลมีเดีย โดยสถิติในปี 2565 นั้นมีจำนวนบัตรเครดิตในประเทศไทยที่ถูกใช้งานเป็นประจำสูงถึง 20 ล้านบัตรเลยทีเดียว เพราะนอกจากจะชำระเงินอย่างสะดวกสบายโดยไม่ต้องพกเงินแล้ว ยังสามารถสะสมแต้มเพื่อแลกรับสิทธิพิเศษต่าง ๆ อีกด้วย
- การใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน : วิธีการทำธุรกรรมแบบไร้เงินสดที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองในประเทศไทย คือ การชำระเงินด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือทันสมัยผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะการใช้แอปพลิเคชันจากสถาบันการเงินหรือที่เรียกกันว่า Mobile Banking ในการสแกนรหัส QR ของบริการพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่ปัจจุบันมีหมายเลขโทรศัพท์ของไทยลงทะเบียนแล้วมากกว่า 69 ล้านหมายเลข รวมถึงยังมีจุดบริการรับชำระเงินด้วยรหัส QR ทั่วประเทศสูงถึง 7 ล้านจุดแล้ว
- การแตะจ่ายด้วยบัตรเครดิตและบัตรเดบิต : เทคโนโลยีการชำระเงินดิจิทัลที่คนไทยนิยมเป็นอันดับ 3 คือ การใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตแตะจ่ายกับเครื่องรับชำระเงินเมื่อเดินทางไปซื้อของที่ร้านค้า ทานอาหารตามภัตตาคาร หรือ ทำธุระต่าง ๆ ที่อาคารสำนักงาน ฯลฯ โดยอุปกรณ์ขนาดกะทัดรัดที่มักพบตั้งอยู่บนตามเคาน์เตอร์ของร้านทั่วประเทศนั้นมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Electronic Fund Transfer at Point of Sale (EFTPOS) ซึ่งปัจจุบันในเดือนมกราคม ปี 2567 มีจำนวนทั้งหมดมากกว่า 940,000 เครื่องและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าสถานการณ์ของเทคโนโลยีการชำระเงินรูปแบบดิจิทัลในประเทศไทยจะมีอนาคตที่สดใส แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ปัจจุบันเงินสดยังคงเป็นวิธีการชำระเงินหลักของคนไทยอยู่ โดยมีสัดส่วนสูงถึง 87% ของการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการเงินของไทยนั้นยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมากมายรอผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ๆ ให้เข้ามายกระดับประเทศสู่การเป็น Cashless Society อย่างเต็มประสิทธิภาพ