5 เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่น่าจับตามองในปี 2022

March 10, 2022

5 เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่น่าจับตามองในปี 2022

อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพนับเป็นหนึ่งในธุรกิจแห่งโลกอนาคตที่จะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปัจจัยสำคัญอย่างสังคมสูงวัย (Aging Society) มาผนวกกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าภาคส่วนนี้จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.56% (CAGR) และมีมูลค่าตลาดโลกสูงกว่าสองแสนล้านบาทภายในปี 2028

สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมการแพทย์เองก็มีอนาคตที่สดใสมาก ๆ เช่นกัน โดยได้รับการจัดอันดับให้มีระบบสุขภาพที่ดีที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก นอกจากนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย เช่น การฝึกสมาธิ นวดสมุนไพร หรือผ่าตัดเสริมความงาม ยังติดอันดับที่ 13 ของโลก และมีศักยภาพพร้อมที่จะกลายเป็นศูนย์กลางการแพทย์ หรือ Medical Hub ของโลก

วันนี้ InnoHub เลยขอชวนผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ และผู้บริโภคมาอัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ 5 เรื่องที่จะมาปฏิวัติอุตสาหกรรมการแพทย์ทั่วโลก ทั้งเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและคว้าโอกาสทางธุรกิจได้อย่างทันท่วงที

1.ระบบการเก็บข้อมูลทางการแพทย์บนบล็อกเชน

นอกจากเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบไร้ตัวกลางอย่าง บล็อกเชน (Blockchain) จะเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมการเงินแล้ว ก็ยังมีบทบาทสำคัญต่อการปฏิวัติการแพทย์และสาธารณสุขได้อีกด้วย โดยเฉพาะเรื่องการบริหารและรวบรวมข้อมูลประวัติการรักษาต่าง ๆ ให้ปลอดภัย รวมถึงเชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูลเหล่านั้นระหว่างผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอีกด้วย

ประโยชน์ของเทคโนโลยีนี้ คือ ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและทันท่วงทีไม่ว่าจะเข้าโรงพยาบาลใด รวมไปถึงลดปัญหาการเบิกจ่ายยาซ้ำซ้อน ป้องกันการโจรกรรมข้อมูลทางการแพทย์

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการทางการแพทย์ก็สามารถลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองและดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนจากเก็บข้อมูลเวชระเบียนในรูปแบบกระดาษไปสู่ออนไลน์แทน เป็นต้น

2.ระบบการนำส่งอินซูลินอัตโนมัติ (Hybrid Closed-Loop Insulin Delivery System)

ระบบการนำส่งอินซูลินอัตโนมัติหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ตับอ่อนเทียม” คือ อุปกรณ์ที่เลียนแบบการทำงานของตับอ่อนซึ่งทำหน้าที่ปล่อยอินซูลินเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วย

นวัตกรรมนี้ได้รับการออกแบบสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 1 ที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เองจึงจำเป็นต้องฉีดอินซูลินทดแทนวันละ 2-4 ครั้ง รวมถึงยังต้องเจาะปลายนิ้วเป็นระยะ เพื่อเช็คระดับน้ำตาลในการคำนวณปริมาณอินซูลินที่ต้องการใช้ในแต่ละวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ลำบากและสร้างความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

ด้วยเซ็นเซอร์ภายในระบบการนำส่งอินซูลินอัตโนมัติที่ทำหน้าที่ตรวจเช็คระดับน้ำตาลใต้ผิวหนังต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานไม่ต้องตรวจและติดตามระดับอินซูลินด้วยตนเอง จากการศึกษาขององค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA) พบว่าระบบนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการโรคเบาหวาน ด้วยการส่งสัญญาณบอกอุปกรณ์จ่ายอินซูลิน ให้ปล่อยอินซูลินออกมาในปริมาณที่เหมาะสม และสามารถปรับเพิ่มหรือลดปริมาณอินซูลินได้เองอัตโนมัติ ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและบรรเทาความเจ็บปวดของผู้ป่วยได้มาก

เครื่องนำส่งอินซูลินอัตโนมัติหรือ “ตับอ่อนเทียม”

Credit: www.medgadget.com/ 

3.การแพทย์แผนนาโน (Nanomedicine)

การแพทย์แผนนาโน (Nanomedicine) คือ การประยุกต์ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีเข้ากับศาสตร์ทางด้านการแพทย์เพื่อรักษาโรคและความผิดปกติต่าง ๆ ด้วยอุปกรณ์หรือยาขนาดเล็กจิ๋วในระดับที่ดวงตาของมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ โดยมีต้นกำเนิดตั้งแต่สมัยปี ค.ศ. 1999 จากงานตีพิมพ์เชิงวิชาการของ Robert Freitas นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกา

เทคโนโลยีการแพทย์แผนนาโนนี้สามารถยกระดับการรักษาผู้ป่วยได้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้นเพราะสามารถตรวจสอบความผิดปกติได้ลึกถึงระดับเซลล์ ยิ่งไปกว่านั้นนวัตกรรมนี้ยังช่วยสร้างเครื่องมือขนาดเล็กระดับนาโนที่สามารถแทรกตัวเข้าไปภายในเซลล์ร้าย เช่น มะเร็ง เพื่อจัดส่งยารักษา แก้ไขซ่อมแซมอย่างตรงจุด ซึ่งช่วยให้คนไข้ไม่จำเป็นต้องทานยาในปริมาณมากเกินไป นอกจากนี้ เครื่องมือดังกล่าวยังสามารถส่งข้อมูลกลับมารายงานสถานะของเชื้อโรคหรือเซลล์ร้ายนั้น ๆ ว่าอาศัยอยู่ภายในส่วนไหนของร่างกายผู้ป่วยได้อีกด้วย 

ปัจจุบัน เทคโนโลยีการแพทย์แผนนาโนได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ทีมนักวิจัยจาก Chinese Academy of Sciences (CAS) คิดค้นวัคซีนป้องกันมะเร็งด้วยการผสานเยื่อหุ้มของเซลล์หลายชนิดเข้าด้วยกัน ซึ่งจากการทดลองกับหนูพบว่าสามารถยับยั้งการเกิดซ้ำของเนื้องอกได้ 

4.ห้องปฎิบัติการบนชิป (Lab on a Chip)

ห้องปฎิบัติการบนชิป หรือ “แลปบนชิป” คือ เทคโนโลยีที่สร้างขึ้นโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเมื่อปี ค.ศ. 1979 และได้รับการพัฒนาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวิจัยและทดลองทางวิทยาศาสตร์ในหลากหลายประเภทให้มีต้นทุนถูกลงและรวดเร็วสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นกว่าสมัยก่อนที่จำเป็นต้องสร้างห้องแลปขนาดใหญ่และจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือมากมาย

หลักการทำงานของนวัตกรรมห้องปฎิบัติการบนชิป คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Microfluidics หรือ ระบบของไหลจุลภาค เพื่อสร้างท่อลำเลียงของเหลวหรือสารละลายขนาดเล็กประมาณเส้นผมเท่านั้นบนแผ่นชิป ซึ่งติดตั้งแบตเตอรี่ก้อนเล็กจิ๋วไว้เพื่อดูดของเหลวให้ไหลตามท่อไปผสมกับสารเคมีต่าง ๆ จนออกมาเป็นผลลัพธ์ของการทดสอบทางการแพทย์ภายในระยะเวลาไม่กี่นาที

ตัวอย่างการใช้งานนวัตกรรมห้องแลปบนชิปในปัจจุบันที่ใกล้ตัวพวกเรามากที่สุด เช่น การตรวจหาผลโควิด-19 แบบ Antigen Test Kit (ATK) ได้ในเวลาน้อยกว่า 30 นาที นอกจากนี้ ยังสามารถย่นระยะเวลาการวิจัยตัดต่อดีเอ็นเอ (DNA) ที่เคยยาวนานหลายปีลงได้ รวมถึงการวิเคราะห์ศึกษาโปรตีนในสิ่งมีชีวิต (Proteomics) ได้รวดเร็วยิ่งขึ้นภายในเวลาไม่กี่นาทีอีกด้วย

Credit: Stanford University

5.อินเทอร์เน็ตสำหรับการแพทย์ (IoMT)

Internet of Medical Things (IoMT) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า IoT in Healthcare คือ เครือข่ายอุปกรณ์การแพทย์และซอฟต์แวร์ด้านสุขภาพต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ซึ่งสามารถช่วยให้ทีมแพทย์ติดตามอาการและรักษาผู้ป่วยได้แบบเรียลไทม์ รวมถึงแบ่งปันและวิเคราะห์ข้อมูลเวชระเบียนมากมายได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

ตัวอย่างการทำงานของนวัตกรรม IoMT ที่แพร่หลายแล้วในปัจจุบัน เช่น Remote Patient Monitoring (RPM) หรืออุปกรณ์การแพทย์ที่ผู้ป่วยสามารถใช้เก็บรวบรวมข้อมูลด้านสุขภาพ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจหรือค่าความดันได้เองที่บ้านก่อนส่งต่อให้แพทย์วินิจฉัย เป็นต้น

นอกจากเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและปลอดภัยให้แก่คนไข้ที่ไม่ต้องฝ่ารถติดเดินทางไปโรงพยาบาลให้เสี่ยงรับเชื้อโรคแล้ว ก็ยังช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งยังลดความเสี่ยงที่เอกสารสำคัญต่าง ๆ อาจสูญหายอีกด้วย

การพลิกโฉมวงการสาธารณสุขด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่จะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Hyper Aged Society) ภายใน 9 ปีข้างหน้านี้

InnoHub หวังว่า 5 นวัตกรรมด้านการแพทย์ที่เรานำมาฝากในวันนี้จะเป็นแรงบันดาลใจและช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้ประกอบการและเจ้าของสตาร์ทอัพได้นำไปปรับใช้เพื่อบรรเทาปัญหาและช่วยเหลือผู้คนมากมายต่อไป

สำหรับภาคประชาชนผู้บริโภค เทคโนโลยีอันทันสมัยเหล่านี้จะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ระบบสาธารณสุข และการจัดการด้านสังคมผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

Share this article

Subscribe to InnoHub!

Stay updated and inspired

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ