7 เทรนด์เทคโนโลยีที่น่าจับตามองในปี 2022
ตอนนี้เวลาก็ผ่านพ้นมาถึงช่วงท้ายปี 2021 กันแล้ว InnoHub จึงขอนำเสนอเทคโนโลยีแถวหน้าของวงการ 7 อันดับที่สถาบันวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (IEEE Computer Society) คาดว่าจะเข้ามามีบทบาทต่อทั้งภาคธุรกิจและผู้คนในสังคมมากขึ้นในปีหน้า เพื่อให้ทุกคนได้เตรียมพร้อมก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคตอย่างทันท่วงที ทั้ง 7 เทคโนโลยีที่ว่านั้นจะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
- เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยไซเบอร์ (Security Cross-Cutting Issues)
อาชญากรรมออนไลน์กลายเป็นปัญหาที่รุนแรงยิ่งขึ้นทันทีเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกคนต่างหันมาใช้งานอินเทอร์เน็ตกันมากกว่าเดิม เพราะข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ เลขบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต ฐานข้อมูลลูกค้า หรือแม้กระทั่งคลาสเรียนออนไลน์ ต่างก็เสี่ยงโดนขโมยและโจมตีจากแฮ็กเกอร์ทั่วโลกได้
สถิติด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่รวบรวมโดย Forbes นั้นก็น่ากังวลหลายข้อ เช่น หัวหน้าฝ่าย IT Security กว่า 80% กล่าวว่าบริษัทของตัวเองไม่มีขีดความสามารถด้านการรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยีที่มากพอ จำนวนมัลแวร์เพิ่มขึ้นกว่า 358% ในปี 2020 นอกจากนี้ การโจมตีทางไซเบอร์จะสร้างความเสียหายทั่วโลกเป็นมูลค่ากว่า 10.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ดังนั้นเทรนด์เทคโนโลยีที่จะมีบทบาทมากที่สุดในปีหน้านี้จึงหนีไม่พ้นเรื่องการยกระดับมาตรการการป้องกันภัยทางไซเบอร์ที่หนาแน่นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การฝึกอบรมพนักงานในองค์กรรวมถึงผู้บริโภคให้สามารถแยกแยะอีเมลที่เข้าข่าย Phishing ได้เอง การใช้ Machine Learning วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ระบบจดจำลักษณะการโจมตีทางไซเบอร์เพื่อป้องกันเหตุร้ายในอนาคต และการใช้วิธียืนยันตัวตนแบบหลายปัจจัย (MFA) เป็นต้น
- การให้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสมบัติสาธารณะ (Open Intellectual Property Movement)
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเปิดให้ผลงานทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเองกลายเป็นสมบัติของสาธารณะที่อนุญาตให้คนอื่น ๆ สามารถนำไปพัฒนา ประยุกต์ และดัดแปลงต่อได้ กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น คลังเก็บข้อมูลออนไลน์อย่าง Wikipedia ซอฟต์แวร์ Open Source ที่เปิดให้เข้าถึงและดาวน์โหลดได้ฟรี การเผยแพร่งานวิจัยใหม่ ๆ สู่สาธารณะ หรือแม้กระทั่งการแบ่งปันโมเดล 3D ให้คนอื่นใช้งานได้ เช่น เว็บไซต์ Blendswap
กระแสความนิยมดังกล่าวนี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรมดี ๆ ให้เกิดขึ้นจริงในสังคมได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพราะผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกสามารถเข้าถึงได้ แลกเปลี่ยนความรู้ของตัวเอง และช่วยกันพัฒนาเทคโนโลยีนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ความท้าทายข้อหนึ่งคือต้องสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนอยากเข้าร่วมแม้จะไม่มีค่าตอบแทนที่สูงหรือแน่นอนก็ตาม รวมถึงความปลอดภัยและน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ผู้คนนำมาแลกเปลี่ยนกันบนแพลตฟอร์มด้วย
3. ความยั่งยืน (Sustainability)
แม้ปัจจุบันผู้คนจำนวนมากทั่วโลกต่างหันมาสนใจเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์พุ่งสูงขึ้นกว่าครั้งไหน ปริมาณการใช้ทรัพยากรทั้งพลังงานไฟฟ้าและวัสดุต่าง ๆ จึงพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งย่อมก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความยั่งยืนจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีกำลังให้ความสนใจและร่วมกันหาทางออก ไม่ว่าจะเป็นการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ทนทานและมีอายุการใช้งานนานขึ้น การใช้วัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หรือเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น
- คอร์สเรียนออนไลน์ขนาดใหญ่ (MOOCs)
การเรียนการสอนขนาดใหญ่ หรือ Massive Open Online Course (MOOCs) เป็นเทคโนโลยีที่ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2008 โดย Georges Siemens และ Dave Cormier ที่เปิดคอร์สชื่อว่า Connectivism and Connective Knowledge เพื่อสอนนักเรียน 25 คนในห้องสด ณ มหาวิทยาลัย Manitoba ประเทศแคนาดา พร้อม ๆ กับนักเรียนอีก 2,300 คนที่เข้าร่วมผ่านทางออนไลน์
การเดินหน้าเข้าสู่ยุคดิจิทัลบวกกับวิกฤตโควิด-19 แบบนี้ MOOCs จึงกลายเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เพราะเปิดรับผู้เรียนจำนวนมากในคราวเดียวกันได้ผ่านทางออนไลน์ ทำให้ค่าเล่าเรียนมีราคาถูกแถมยังนั่งเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาให้กับผู้คนจำนวนมากทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีทักษะใหม่ ๆ ที่ตลาดแรงงานแห่งโลกอนาคตกำลังต้องการด้วย เช่น การบริหารโปรเจค การออกแบบ UX/UI หรือการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกหลายแห่งเปิดคอร์สออนไลน์ขนาดใหญ่แบบนี้แล้ว แถมหลายคอร์สก็เปิดสอนแบบฟรี ๆ อีกด้วย เช่น Harvard University และ Massachusetts Institute of Technology (MIT) นอกจากนี้ ก็ยังมีแพลตฟอร์มคอร์สเรียนออนไลน์ชื่อดังอีกมากมาย เช่น Coursera และ Udemy ที่มีจำนวนผู้เข้าเรียนแล้วกว่า 82 ล้านคนทั่วโลก
แม้ MOOCs จะโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังขาดการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างอาจารย์และนักศึกษา เปอร์เซ็นต์คนเรียนจนจบคอร์สน้อยแค่ประมาณ 8% แถมยังมีโอกาสสูงถึง 50% ที่จะมีคนสร้างโปรแกรมมาโกงข้อสอบแบบปรนัยได้สำเร็จ แต่ IEEE ก็มองว่า เทคโนโลยีเบื้องหลังห้องเรียนออนไลน์ขนาดใหญ่เช่นนี้จะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในปี 2022 และอาจดิสรัปการเรียนการสอนระดับชั้นอุดมศึกษาทั่วโลกในอนาคต
- การประมวลผลแบบควอนตัม (Quantum Computing)
เทคโนโลยีการประมวลผลแบบควอนตัม หรือ Quantum Computing เป็นสิ่งที่หลายคนคาดหวังว่าจะช่วยพลิกโฉมให้ระบบการประมวลผลของคอมพิวเตอร์มีความรวดเร็วและทรงพลังมากยิ่งขึ้นหลายสิบเท่า แต่ว่าแม้จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเริ่มทดลองใช้งานแล้ว แต่ขีดความสามารถของควอนตัมคอมพิวติ้งในปัจจุบัน ก็ยังค่อนข้างห่างไกลจากคอมพิวเตอร์ปกติทั่วไปที่เราพบเห็นตอนนี้อยู่ดี
เพราะบริษัทชั้นนำของโลก เช่น IBM Microsoft และ Google ที่เป็นหนึ่งในผู้พัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวในตอนนี้ก็เพิ่งประสบความสำเร็จในการสร้าง Qubits ซึ่งเป็นหน่วยประมวลผลข้อมูลขนาดเล็กในระดับอะตอม ได้ประมาณ 50-65 Qubits เท่านั้นเอง
แต่นักวิทยาศาสตร์หลายรายคาดการณ์ว่ากว่าที่ควอนตัมคอมพิวติ้งจะมีประสิทธิภาพมากพอจนสามารถออกวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์เป็นวงกว้างได้นั้นจะต้องมีจำนวน Qubits อย่างน้อย 1,000 – 1,000,000 หน่วยเสียก่อน ดังนั้นคงต้องรอกันอีกประมาณสิบปี เราจึงได้เห็นเทคโนโลยีอันล้ำสมัยนี้ช่วยยกระดับธุรกิจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้น
- Quantum Computing จะทำงานร่วมกับ Blockchain ได้จริงหรือ?
- How quantum computers will revolutionize financial services
- นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology)
นาโนเทคโนโลยี หรือ การควบคุมและดัดแปลงสสารในระดับเล็กขนาดอะตอมหรือโมเลกุลนั้นถือว่าเป็นนวัตกรรมล้ำสมัยที่หลายอุตสาหกรรมในปัจจุบันได้มุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น แคปซูลบรรจุกล้องขนาดจิ๋วที่ผู้ป่วยสามารถกลืนลงไปเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้กระทั่งการผลิตเครื่องสำอาง ครีมกันแดด หรือยางรถยนต์ ก็นำนาโนเทคโนโลยีมาประยุกต์และพัฒนาสินค้าต่าง ๆ เช่นกัน
ตัวอย่างการใช้งาน เช่น อุตสาหกรรมความงามต้องใช้ส่วนผสมขนาดเล็กจิ๋วระดับนาโนเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติกันรังสี UV จากแสงแดด หรือซ่อมแซมและฟื้นฟูเซลล์ผิวได้ดียิ่งขึ้น ส่วนในการผลิตยางรถยนต์ นาโนเทคโนโลยีสามารถช่วยเพิ่มความทนทานและอายุการใช้งานของสินค้า แถมยังเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงได้อีกด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้วเมื่อเราไม่ต้องเปลี่ยนยางรถยนต์กันบ่อย ๆ ก็ส่งผลเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมด้วยนั่นเอง
ในอนาคตข้างหน้านี้ แม้ว่าจะต้องอาศัยการค้นคว้าและวิจัยอีกมาก แต่ผู้เชี่ยวชาญก็คาดการณ์ว่าเราจะได้เห็นนาโนเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการแพทย์ เช่น อุปกรณ์เซ็นเซอร์ขนาดจิ๋วที่เข้าไปตรวจสอบความผิดปกติภายในร่างกาย การรักษาแผลได้อย่างรวดเร็ว หรือการสร้างกระดูกและอวัยวะที่เสียหายขึ้นมาใหม่
- วงจรรวมแบบสามมิติ (3D Integrated Circuits)
วงจรรวม 2.5D (ซ้าย) และ วงจรรวม 3D (ขวา)
ที่มา: IEEE Computer Society 2022 Report
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักวิจัยและผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ได้พยายามพัฒนาขีดความสามารถของวงจรไฟฟ้าให้สามารถรับส่งข้อมูลและประมวลผลได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการทำให้ต้นทุนในการผลิตถูกลงกว่าเดิม ดังนั้นพวกเขาจึงออกแบบวงจรรวมใหม่ จากเดิมที่เป็นวงจรลักษณะระนาบ (planar circuit) ให้เป็นวงจร 2.5 และ 3 มิติ ซึ่งเน้นการประกอบแผงวงจรแบบทับซ้อนกัน
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายยังคงเป็นเรื่องของการวิจัยและทดสอบที่ต้องผ่านด่านอีกหลายขั้นตอน นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจต้องรอถึงประมาณปี 2025 กว่าที่วงจรรวมแบบ 3D นี้จะเข้าสู่การผลิต Mass Production แล้วออกวางจำหน่ายในท้องตลาดได้
เป็นยังไงบ้างกับ 7 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองในขณะนี้ซึ่งจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นอีกในปี 2022 และอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เร่งความเร็วของ Digital Transformation ทั่วโลกไปหลายเท่าตัว อย่าลืมติดตามข่าวสารด้านเทคโนโลยีและธุรกิจสตาร์ทอัพจาก InnoHub กันได้ใหม่ในบทความหน้า