TechFin เป็นธุรกิจที่จะมาดิสรัป FinTech หรือไม่
ตั้งแต่ทั่วโลกเริ่มเข้าสู่ยุคดิจิทัล องค์กรในอุตสาหกรรมการเงินได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ของตัวเองอย่างต่อเนื่อง และได้รับการขนานนามว่า FinTech เช่น ธนาคารทุกแห่งที่ปัจจุบันมีบริการโมบายแบงก์กิ้ง (Mobile Banking) มาช่วยให้ลูกค้าทำธุรกรรมทางการเงินได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน บริษัทที่เริ่มดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีประเภทอื่นมาก่อน ก็เริ่มเติบโตอย่างก้าวกระโดดแล้วขยับขยายมาให้บริการทางด้านการเงินเพิ่มเติม เช่น LINE Pay ซึ่งเป็นบริการกระเป๋าเงินอัจฉริยะของแอปพลิเคชันติดต่อสื่อสารชื่อดังอย่าง LINE นั่นเอง องค์กรที่มีการเติบโตคนละทางกับ FinTech เช่นนี้เราจะเรียกกันว่า TechFin
นักวิเคราะห์หลายคนมักมองว่าทั้งสองธุรกิจนี้เป็นคู่แข่งที่พยายามดิสรัปอีกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทด้าน TechFin ที่ขยายกิจการไปยังประเทศต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และครองใจผู้บริโภคในตลาดได้จำนวนมาก ทั้งยังมีขุมกำลังด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม บทความนี้จาก InnoHub จะมาอธิบายความแตกต่างระหว่าง FinTech และ TechFin ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น พร้อมชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้วทั้งสองธุรกิจนี้ต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และอาศัยจุดเด่นของตัวเองเพื่อยกระดับบริการด้านการเงินให้ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง
บริการของ FinTech กับ TechFin มีจุดเด่นแตกต่างกัน
จากที่กล่าวไปคร่าว ๆ ข้างต้นว่า FinTech หมายถึงผู้ให้บริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนาบริการของตัวเองให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน ตัวอย่างที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คือ โมบายแบงก์กิ้งที่อำนวยความสะดวกให้ทุกคนโอนเงินออนไลน์ ซื้อกองทุนรวมออนไลน์ หรือสแกน QR Code หน้าร้านเพื่อชำระเงินได้ทันที บริการเหล่านี้มีขึ้นเพื่อพัฒนาประสบการณ์การทำธุรกรรมให้มีความสะดวกสบายและคล่องตัวยิ่งขึ้นนั่นเอง
แต่เมื่อเราลองพิจารณาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของ TechFin หลายองค์กร จะเห็นว่าพวกเขามุ่งเน้นไปที่การยกระดับแพลตฟอร์มเดิมของตัวเองให้มีบริการด้านการเงินเพิ่มเติมเพื่อให้แอปพลิเคชันของตัวเองมีฟังก์ชันครบวงจรมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น WeChat แอปพลิเคชันสำหรับติดต่อสื่อสารโดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ Tencent ประเทศจีน ที่ออกบริการทางการเงินอย่าง WeChat Pay กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ชำระเงินได้ผ่านแอป WeChat โดยตรง
ความแตกต่างสำคัญระหว่าง FinTech กับ TechFin จึงอยู่ที่บริษัทในกลุ่มแรกนั้นโดดเด่นด้านการให้บริการบริหารจัดการทรัพย์สินและการลงทุนทุกประเภท ส่วนบริษัทในกลุ่มหลังจะเน้นเฉพาะบริการชำระเงินสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ณ ที่จ่ายทันที นอกจากนี้ TechFin หลายรายยังจับมือกับ FinTech อย่างธนาคารพาณิชย์เพื่อให้บริการด้านการเงินของตัวเองเป็นไปอย่างราบรื่นและสะดวกสบายกับลูกค้ามากที่สุด
- TechFin ความท้าทายครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมการเงิน
- 5 อาชีพที่ปัญญาประดิษฐ์ AI อาจเข้ามาแทนที่มากที่สุดในอนาคต
ฐานลูกค้าของ FinTech กับ TechFin แตกต่างกัน
ธุรกิจ TechFin หลายรายมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่อยู่ก่อนแล้ว เช่น WeChat ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันเป็นจำนวนมากถึง 1,200 ล้านบัญชี ดังนั้นบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้จึงไม่ได้พยายามแย่งลูกค้าไปจากสถาบันการเงินอย่าง FinTech ให้หันไปใช้บริการของตัวเองคนเดียวแต่อย่างใด
ตรงกันข้าม TechFin ปล่อยให้เพื่อนร่วมอุตสาหกรรมอย่าง FinTech ซึ่งส่วนใหญ่คือธนาคารรับบทบาทเป็นสถาบันการเงินมืออาชีพที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อบังคับของหลายองค์กร เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และต้องพร้อมให้บริการด้านธุรกรรมต่าง ๆ แบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการรับฝากเช็คที่สาขา การซื้อกองทุนรวม และอื่น ๆ อีกมากมาย
กล่าวโดยสรุป คือ บริษัท TechFin มุ่งเน้นการรักษาฐานลูกค้าให้อยู่บนแพลตฟอร์มของตัวเองโดยนำบริการด้านการเงินมาพัฒนาประสบการณ์การใช้งานให้ลื่นไหลมากยิ่งขึ้นควบคู่กับฟังก์ชันหลักอื่น ๆ ในแอปพลิเคชัน ส่วนทางด้าน FinTech ก็มุ่งยกระดับบริการทางการเงินที่มีอยู่แต่เดิมให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายและทำธุรกรรมได้สะดวกรวดเร็วนั่นเอง
มาตรวัดความสำเร็จ ของ FinTech กับ TechFin แตกต่างกัน
ปัจจัยข้อสุดท้ายที่ทำให้ทั้งสองบริษัทแตกต่างกัน คือ โมเดลธุรกิจและตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กร (Metrics) โดย TechFin มักสร้างรายได้จากค่าโฆษณาออนไลน์หรือกิจกรรมต่าง ๆ ในแพลตฟอร์มของตัวเอง ดังนั้นพวกเขาจึงต้องพยายามชักจูงให้ลูกค้ากดไลก์คอนเทนต์ แสดงความคิดเห็น หรือใช้เวลาอยู่บนแอปพลิเคชันให้นานที่สุด ซึ่งนอกจากจะเป็นโมเดลธุรกิจหลักแล้ว ก็ยังก่อให้เกิดข้อมูลมหาศาล หรือ Big Data ของพฤติกรรมของผู้ใช้งานเพื่อนำมาวิเคราะห์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองต่อไปด้วย
สำหรับบริษัท FinTech นั้นกลับมีโมเดลธุรกิจที่แตกต่างจาก TechFin อย่างสิ้นเชิง โดยรายได้หลักจะมาจากการที่ลูกค้าเปิดบัญชีเงินฝากและใช้บริการทางการเงินอื่น ๆ ของตัวเอง ส่วนระยะเวลาที่ผู้คนใช้งานแอปพลิเคชัน ยอดไลก์ ยอดแชร์ หรือยอดคอมเมนต์ นั้นเป็นเพียงตัวชี้วัดรองที่อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของธุรกิจมากเท่าไหร่นัก
จากข้อแตกต่าง 3 ข้อ และบทบาทที่สอดประสานกันอย่างลงตัวของทั้งสองบริษัท TechFin และ FinTech จึงเป็นเสมือนพาร์ทเนอร์ที่ต่างพึ่งพาอาศัยกันเสียมากกว่าจะเป็นคู่แข่งกัน แถมยังมุ่งมั่นที่จะยกระดับบริการให้มีคุณภาพเยี่ยมเพื่อผู้บริโภคทุกคนเหมือน ๆ กันอีกด้วย ดังนั้น ในอนาคตเราคงได้เห็นอุตสาหกรรมการเงินและเทคโนโลยีเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปพร้อม ๆ กันได้อย่างแน่นอน