Cashless Trend Update: ใกล้แค่ไหนสังคมไร้เงินสด

พฤศจิกายน 4, 2019

Cashless Trend Update: ใกล้แค่ไหนสังคมไร้เงินสด

           วลี “สังคมไร้เงินสด” นั้นเริ่มถูกใช้อย่างแพร่หลายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน การชำระค่าสินค้าและบริการด้วย QR Code และการโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์นั้นล้วนเป็นกิจวัตรแบบใหม่ที่เกิดขึ้น เพราะเทคโนโลยีอย่าง Promptpay และกระเป๋าเงินดิจิทัล นับเป็นความสะดวกสบายของการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ที่ทำให้ผู้คนเริ่มพกเงินสดกันน้อยลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกันในนานาประเทศทั่วโลก การใช้จ่ายทางเลือกอื่น ๆ ก็ได้เติบโตขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้ “สังคมไร้เงินสด” เริ่มเป็นรูปธรรมที่ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ

           จากการสำรวจของ Auka ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มชำระเงินจากประเทศนอร์เวย์ ในภูมิภาคยุโรป ธุรกิจกว่า 78% มีการเปิดรับชำระเงินแบบ Cashless (เช่นผ่านบัตร หรือแอป) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในแถบยุโรปตะวันออก เช่น โรมาเนีย บัลแกเรีย และโครเอเชีย ที่ธุรกิจราว 90% เตรียมพร้อมรับสังคมไร้เงินสดกันแล้ว ในขณะเดียวกันในฝรั่งเศส นอร์เวย์ และสวีเดนก็มีอัตราการใช้จ่ายไร้เงินสดที่สูง โดยร้านค้ากว่าครึ่งในสวีเดนวางแผนจะเลิกรับเงินสดภายในปี 2025 นี้

           ไลฟ์สไตล์แบบไร้เงินสดนั้นมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วไปในทิศทางคล้ายกันทั่วโลก Allied Market Research สถาบันวิจัยตลาดระดับโลก คาดการณ์ว่าการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์ (Mobile Payment) จะมีมูลค่ามากกว่า 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2023 โดย Worldpay ผู้นำด้านเทคโนโลยีการชำระเงินระดับโลกคาดว่าการใช้จ่ายแบบ Mobile Payment จะมีอัตราที่สูงขึ้นเป็น 28% ในปี 2022

เรา Cashless อย่างไรได้บ้าง?

           การใช้ชีวิตแบบไร้เงินสดในปัจจุบันนั้นมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก คือการใช้งานผ่านบัตรเครดิตและเดบิตซึ่งแม้ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีใหม่แต่ก็มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เช่น การปรับปรุงความเร็วและความเสถียรของระบบ การปรับบริการใหม่ในร้านค้าเพื่อให้ลูกค้าใช้จ่ายได้สะดวกยิ่งขึ้นทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และการจับมือร่วมพาร์ทเนอร์กับบริการอื่นๆ เช่น แอปพลิเคชันกระเป๋าเงินดิจิทัล ระบบจัดการร้านค้า หรือระบบชำระเงินขนส่งมวลชน โดยในประเทศต้นกำเนิดผู้ให้บริการบัตร VISA และ Mastercard อย่างสหรัฐอเมริกา ผู้คนนิยมใช้จ่ายในร้านค้าผ่านบัตรเครดิตและเดบิตกันกว่า 80% และในปี 2018 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐได้รายงานว่ามีการใช้จ่ายผ่านบัตรราว 41,000 ล้านครั้ง รวมมูลค่ากว่า 3.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

           กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มของแอปพลิเคชัน Mobile Payment ซึ่งประเทศจีนถูกมองเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่รัฐบาลมีบทบาทเป็นอย่างมากในการช่วยสร้าง Cashless Society ร่วมกับภาคเอกชน ข้อมูลจากรายงาน 2019 Global Payment โดย Merchant Machine ระบุว่าชาวจีนกว่าร้อยละ 47 มีการใช้งานแอปพลิเคชันกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งนำโดย WeChat Pay และ Alipay เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ ตั้งแต่การจับจ่ายในห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงการจ่ายค่าแท็กซี่และค่าอาหารในร้านริมทาง โดยเมื่อต้นปี 2019 WeChat Pay และ Alipay เองได้แถลงว่า แต่ละแอปพลิเคชันของตนเองนั้น มีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 1 พันล้าน active user เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีผู้ให้บริการอีกหลายรายทั่วโลกที่ได้รับความนิยม ไม่ว่าจะเป็นบริการจากธนาคารพาณิชย์ หรือ บริษัทรายใหญ่ เช่น PayPal, Apple Pay, Google Pay, Samsung Pay, ไปจนถึงสตาร์ทอัพและผู้ให้บริการอื่นๆ รวมไปถึงกระเป๋าเงินที่เป็นส่วนหนึ่งของแอปพลิเคชันอื่น เช่น กระเป๋าเงินในแอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่ เป็นต้น

           อย่างไรก็ตาม ยังมี Cashless อีกรูปแบบหนึ่งที่ถูกจับตามองอย่างมากในช่วงหลัง นั่นก็คือ Digital Currency ซึ่งนอกจาก Bitcoin และ Ethereum ที่เป็นที่รู้จักกันแล้ว ปัจจุบันยังมีสกุลเงินดิจิทัลที่เกิดใหม่อีกมากมาย โดยผู้พัฒนาเทคโนโลยีหลายรายก็หวังว่าสกุลเงินเหล่านี้จะสามารถใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตและแอปพลิเคชันกระเป๋าเงินได้ดังสกุลเงินทั่วไปในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามสกุลเงิน Digital Currency นี้ยังมีประเด็นอีกมากมายที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เช่น เรื่องการกำหนดขอบเขตของความเป็นส่วนตัว การตั้งเกณฑ์การกำกับดูแลที่เหมาะสม และความแน่นอนของมูลค่า แม้กระทั่ง Libra ซึ่งเป็นโครงการของ Facebook แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานกว่า 2,400 ล้านคนทั่วโลกต่อเดือน ก็ยังถูกตั้งคำถามในประเด็นของความปลอดภัยและความเป็นไปได้ที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการก่ออาชญากรรมหรือกระทำสิ่งผิดกฎหมาย

           ทว่าก็ไม่ใช่ว่า Digital Currency นั้นจะถูกปล่อยผ่านไปเลยซะทีเดียว เพราะตอนนี้ธนาคารกลางของหลายประเทศได้เริ่มมีการทดสอบสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency หรือ CBDC) เพื่อศึกษาการทำงานของเทคโนโลยี และเตรียมรับมือกับความเสี่ยง เช่น จีน สวีเดน บาฮามาส อุรุกวัย อินเดีย รวมถึงประเทศไทยของเราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการทดสอบสกุลเงิน CBDC นี้ในโครงการอินทนนท์ ไปถึงระยะที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นตอนของการทดลองเชื่อมต่อกับระบบที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับธุรกรรมข้ามประเทศ โดยหากสำเร็จ การทำธุรกรรมข้ามประเทศก็จะรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อาจไม่ใช่ Cashless แต่เป็น Less Cash

           Cashless นั้นเป็นภาพที่หลายคนมองว่าเป็นอนาคตของสังคมโลก ทว่าในอีกมุมหนึ่งก็มีการโต้แย้งถึงความจำเป็นของการใช้เงินสด รายงาน Access to Cash Review ของ CBE เผยให้เห็นว่าในหมู่ผู้สูงอายุและผู้ที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นห่างไกลที่เทคโนโลยียังไม่ครอบคลุมก็ยังคงต้องใช้เงินสดในการจับจ่ายเป็นหลัก นอกจากนี้ ในการใช้จ่ายแบบ Cashless นั้นรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายกำกับดูแลความเป็นส่วนตัวของข้อมูลให้กับผู้บริโภคไม่ให้ผู้ให้บริการนำข้อมูลไปใช้อย่างอิสระ และมาตรการควบคุมเงินหมุนเวียนรูปแบบใหม่ รวมไปถึงสกุลเงินดิจิทัลที่อาจเกิดขึ้นด้วย

           ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีแนวโน้มการใช้เงินสดน้อยลง จากการสำรวจโดย VISA ในปี 2018 พบว่าชาวไทยกว่า 68% เชื่อว่าไทยจะเข้าสู่สถานะสังคมไร้เงินสดได้ภายใน 7 ปี และกว่า 40% กล่าวว่าพวกเขาสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ทั้งวันโดยไม่ต้องพกเงินสด อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตในประเทศไทย เช่น การจับจ่ายในร้านค้าขนาดเล็ก และการใช้บริการจากผู้ให้บริการรายย่อยนั้น อาจทำให้ชาวไทยยังคงมีความจำเป็นในการใช้เงินสดอยู่มาก

           ไทยอาจต้องเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคม Cashless อีกหน่อย ทว่าในส่วนของ Less Cash นั้น เราทำได้เป็นอันดับต้น ๆ ของอาเซียนแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >> Biometric Payment : เมื่อตัวคุณคือรหัสผ่าน

Share this article

กดติดตาม InnoHub

เพื่อรับข้อมูลข่าวสารและแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ