ความคืบหน้าและความท้าทายของกฎหมายควบคุม AI ฉบับแรกของโลก

มิถุนายน 20, 2024

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลกเพราะสามารถยกระดับประสิทธิภาพการทำงานด้านต่าง ๆ ได้ แต่ขณะเดียวกัน นวัตกรรมดังกล่าวก็สร้างผลกระทบเชิงลบจนผู้เชี่ยวชาญหลายภาคส่วนเรียกร้องให้มีการกำกับดูแล AI อย่างจริงจัง วันนี้ InnoHub เลยนำความคืบหน้าของการวางนโยบายควบคุมดูแลปัญญาประดิษฐ์มาอัปเดตให้ทุกคนฟัง จะเป็นอย่างไรและมีความท้าทายแบบไหนบ้าง ไปดูกันเลย

ผลกระทบและความน่ากังวลของเทคโนโลยี AI

ปัญญาประดิษฐ์ หรือที่เรียกย่อ ๆ จนคุ้นเคยกันว่า AI นั้นกำลังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคนทั่วโลกอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ Generative AI ที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาผ่านการเรียนรู้และประมวลผลข้อมูลขนาดมหาศาล หนึ่งในนวัตกรรมดังกล่าวคือ ChatGPT ปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะจากบริษัท OpenAI ในสหรัฐอเมริกา ที่ทั้งตอบคำถาม เขียนโปรแกรม สร้างคอนเทนต์ ฯลฯ ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปลายปี 2565 ปัจจุบัน ChatGPT มีจำนวนผู้ใช้งานแล้วมากกว่า 180 ล้านคนทั่วโลก พร้อมทำรายได้สูงถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ปัญญาประดิษฐ์ก็เหมือนกับสิ่งอื่น ๆ ในโลกที่ย่อมมีสองด้านเสมอ เพราะเทคโนโลยีนี้อาจเกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้หรือถูกมนุษย์นำไปใช้ในทางที่ผิด ยกตัวอย่าง เช่น มิจฉาชีพได้อาศัยนวัตกรรม AI ชื่อดังอย่าง Deepfake เพื่อปลอมใบหน้าและตัวตนเป็นผู้บริหารสูงสุดทางการเงิน (CFO) แล้วออกคำสั่งกับพนักงานบริษัทชาวฮ่องกงให้โอนเงินมูลค่ากว่า 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าไปยังบัญชีหนึ่งผ่านทางการประชุมออนไลน์ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อปีที่ผ่านมา ชายชาวเบลเยียมรายหนึ่งกระทำอัตวินิบาตกรรมเนื่องจากได้รับแรงกระตุ้นและสนับสนุนจากการพูดคุยปรึกษากับ Eliza แพลตฟอร์ม AI แชทบอทของแอป Chai อีกด้วย ยังไม่รวมถึงผลกระทบอื่น ๆ จากนวัตกรรม AI ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว การมีอคติต่อกลุ่มคนด้อยโอกาสหรือคนส่วนน้อยในสังคม เช่น ผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LQBTQ+) ประชาชนในกลุ่มชาติพันธุ์บริเวณพื้นที่ห่างไกล ฯลฯ

กฎหมายควบคุมดูแล AI ครั้งแรกของโลกในสหภาพยุโรป

สาเหตุข้างต้นนี้เองที่ผลักดันให้หลายหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกต้องเริ่มคิดนโยบายรวมถึงวางแนวทางการบริหารและควบคุมดูแลการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้เป็นไปอย่างปลอดภัยต่อความมั่นคงของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยล่าสุดเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (The Council of the European Union) ได้ประกาศอนุมัติกฎหมายการกำกับดูแลและควบคุมปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลก ซึ่งจะมีผลบังคับใช้จริงกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เช่น ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ เดนมาร์ก และ สวีเดน เมื่อประมาณช่วงกลางปี 2569

เนื้อหาคร่าว ๆ ของกฎหมายใหม่นี้ค่อนข้างเข้มงวดและรัดกุมในการเข้าไปตรวจสอบการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม AI ขององค์กรมากพอสมควร โดยจะแบ่งประเภทของปัญญาประดิษฐ์ออกเป็นความเสี่ยงระดับต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อสังคม ยกตัวอย่าง เช่น ระบบรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Vehicle) และอุปกรณ์ด้านการแพทย์ จัดเป็นเทคโนโลยี AI ที่มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ บริษัทผู้พัฒนาจะต้องเปิดเผยกระบวนการฝึก หรือ Training โมเดลปัญญาประดิษฐ์อย่างโปร่งใส ปฏิบัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป รวมถึงต้องมีข้อความเขียนกำกับเพื่อแจ้งว่าภาพหรือวิดีโอไหนสร้างขึ้นจากฝีมือของ AI หากองค์กรใดกระทำผิดอาจต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวนสูงถึง 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 7% ของรายได้ต่อปีอีกด้วย

AI ของรถยนต์ Tesla ก็จะถูกจัดอยู่ในประเภทความเสี่ยงสูงตามกฎหมายใหม่ของ EU 

ความท้าทายหลักของการใช้กฎหมายกำกับดูแล AI

แม้ว่าการออกนโยบายควบคุมและตรวจสอบการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์จะถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่สามารถช่วยปกป้องผู้บริโภคและสังคมจากความเสี่ยงของนวัตกรรมดังกล่าวได้ แต่เมื่อพิจารณาในอีกแง่หนึ่ง กฎระเบียบนั้นก็ก่อให้เกิดความท้าทายใหญ่หลายข้อที่น่าขบคิดเช่นกัน ประการแรกคือความรวดเร็วในการบังคับใช้นโยบายต่าง ๆ อย่างเป็นทางการอาจตามไม่เท่าทันพัฒนาการอันก้าวกระโดดราวกับติดจรวดของเทคโนโลยี AI ตัวอย่างเช่น บริษัท OpenAI ที่หลังจากปล่อย ChatGPT เวอร์ชัน 3.5 ออกสู่ตลาดเมื่อปลายปี 2565 ก็สามารถยกระดับนวัตกรรมของตัวเองเป็น GPT-4 เมื่อเดือน มี.ค. 2566 ก่อนจะอวดโฉม Sora ปัญญาประดิษฐ์ที่แปลงข้อความเป็นวิดีโอได้อย่างสวยงามไปเมื่อเดือน ก.พ. 2567 การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหลักไม่กี่เดือนของ AI นี้ย่อมแซงหน้าการบังคับใช้กฎระเบียบอย่างเป็นทางการที่มักกินเวลานานหลายปีอย่างแน่นอน

อีกหนึ่งแง่มุมน่าคิดของกฎระเบียบควบคุมปัญญาประดิษฐ์ คือ อาจเกิดความท้าทายในการหาข้อตกลงที่เป็นสากลร่วมกันว่าจะกำกับดูแล AI อย่างไร เพราะในขณะที่นโยบายของสหภาพยุโรปค่อนข้างเข้มงวดเป็นพิเศษจนนักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่าอาจสร้างความยุ่งยากให้กับภาคธุรกิจจนการพัฒนา AI เป็นไปอย่างล่าช้ากว่าเดิม ทางด้านภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ของโลกอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนนั้นกำลังพิจารณากฎระเบียบที่ผ่อนปรนมากกว่า เช่น  เนื่องจากให้ความสำคัญกับศักยภาพในการสร้างสรรค์เทคโนโลยี AI อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้นั่นเอง

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์คือดาบสองคมที่สามารถให้ทั้งประโยชน์ไปจนถึงผลกระทบเชิงลบเป็นวงกว้างในสังคมได้ แต่หากทุก ๆ ภาคส่วนในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ องค์กรภาคธุรกิจ และผู้บริโภคร่วมมือกันร่างกฎระเบียบด้านการกำกับดูแล AI โดยคำนึงถึงทั้งความปลอดภัยและความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ก็จะสามารถหาข้อตกลงที่มีความสมดุลและบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน

Share this article

กดติดตาม InnoHub

เพื่อรับข้อมูลข่าวสารและแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ