จับตาวิวัฒนาการ AI จากทั่วโลก

กรกฎาคม 8, 2019

จับตาวิวัฒนาการ AI จากทั่วโลก

           เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในศตวรรษ 21 ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ INDUSTRY 4.0 หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทุกวงการอุตสาหกรรม ประชาชนมีทางเลือกใหม่ๆ ที่ทำให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นจากการพึ่งพาเทคโนโลยี โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในขณะนี้คงหนีไม่พ้น AI ที่ยังคงแรงต่อเนื่อง เห็นได้จากการปรากฏการณ์แข่งขันพัฒนา AI จากหลายประเทศ เพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำนวัตกรรมที่สามารถสร้างเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและเอื้อประโยชน์มหาศาลให้กับประเทศนั้นได้

Made in China 2025

           หากจะพูดถึง AI ถ้าไม่กล่าวถึงประเทศจีนคงเป็นไปไม่ได้ ด้วยความพยายามเปลี่ยน mind set ของคนทั่วไปที่มองจีนว่าเป็นประเทศที่มีการผลิตสินค้าต้นทุนต่ำ มีความได้เปรียบด้านค่าแรง มาสู่การเป็นผู้นำด้าน AI  ด้วยการที่จีนประกาศยุทธศาสตร์ Made in China 2025 หรือ Industry 4.0 มุ่งเน้นเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากเน้นปริมาณสู่การผลิตที่เน้นคุณภาพ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต ซึ่งโฟกัสที่ 10 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย

  1. อุตสาหกรรมสารสนเทศ
  2. หุ่นยนต์ที่ทำงานได้เอง
  3. อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์อากาศยาน
  4. อุตสาหกรรมต่อเรือไฮเทค
  5. อุตสาหกรรมการผลิตรถไฟ
  6. อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่
  7. อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์พลังงาน
  8. อุปกรณ์การผลิตวัตถุดิบใหม่ ที่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ในยุคเทคโนโลยี
  9. อุตสาหกรรมยาและอุปกรณ์การผลิตยา
  10. อุตสาหกรรมเครื่องมือทางการเกษตร

           สอดคล้องกันกับที่รัฐบาลจีนส่งเสริมการค้นคว้า AI ให้ครอบคลุมทุกด้าน และให้การสนับสนุนภาคเอกชนอย่างการสนับสนุน Baidu ผู้ให้บริการ software และ search engine รายใหญ่ของจีน ในการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับ Google Car ในสหรัฐฯ หรือการสนับสนุน Tencent ในการพัฒนา AI เพื่อระบบดูแลสุขภาพอัจฉริยะ (Intelligent Healthcare)

           แต่ที่ฮือฮาสุดสำหรับวิวัฒนาการ AI ของประเทศจีน คือผู้ประกาศข่าว AI คนแรกของโลก ที่คิดค้นโดยสำนักข่าวซินหัว สามารถอ่านข่าวเป็นธรรมชาติเหมือนผู้ประกาศมืออาชีพ โดยถอดแบบมาจากผู้ประกาศข่าวภาษาอังกฤษที่มีตัวตันอยู่จริง และสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมไปถึงเทคโนโลยี Face Recognition ที่พัฒนาโดยบริษัท YITU Technology สามารถจดจำใบหน้าบุคคลพร้อมกันถึง 10 ล้านคน ภายในหลักวินาที ซึ่งเทคโนโลยีนี้สามารถนำมาใช้กับกล้องวงจรปิดเพื่อช่วยติดตามผู้ต้องสงสัยได้

Smart Manufacturing

           การประกาศการเป็นผู้นำด้าน AI ของจีน อาจทำให้ประเทศคู่แข่งอย่างสหรัฐฯ ร้อนๆ หนาวๆ บ้าง เพราะเป็นที่รู้กันว่าสองประเทศนี้กำลังขับเคี่ยวกันอยู่ อย่างล่าสุดกับกรณีพิพาทระหว่าง ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ของจีนกับรัฐบาลสหรัฐฯ ถูกพิจารณาเป็นรายชื่อบริษัทที่ห้ามใช้เทคโนโลยีจากบริษัทของสหรัฐฯ โดยไม่ได้รับการอนุมัติ เนื่องจากความกังวลเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ

           ส่วนในด้านวิวัฒนาการ AI ฝั่งประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ล่าสุดได้ประกาศแผน American AI Initiative เพื่อส่งเสริมการวิจัย AI ซึ่งจุดประสงค์หลักของโครงการนี้ เพื่อรักษาความได้เปรียบในการเป็นผู้นำทางด้าน AI ของสหรัฐฯ โดยไม่เพลี้ยงพล้ำให้จีน  ด้านบริษัทชั้นนำในสหรัฐฯ อย่าง IBM ที่มุ่งมั่นทำวิจัยด้าน AI มาโดยตลอด ได้นำ AI เข้ามาใช้ในการจัดการทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเป็นที่มาของโครงการ Predictive Attrition Program ระบบดังกล่าวทำงานด้วยการใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลของพนักงาน เพื่อคาดการณ์ว่าว่าพนักงานคนไหนมีแนวโน้มจะลาออกจากบริษัท หากพบบุคคลที่อยุ่ในกลุ่มเสี่ยง ระบบก็จะทำการแนะนำสิ่งที่หัวหน้าควรจะทำ เช่น การให้คำปรึกษาพูดคุยกับพนักงานรายนั้น ส่วน Google ก็ไม่น้อยหน้า ล่าสุดได้ปล่อยฟีเจอร์ Google Duplex บน Google Assistant วิธีการใช้ง่ายดาย ผู้ใช้เพียงป้อนคำสั่งให้ Google Assistant เช่น การจองร้านอาหาร ระบบ AI จะโทรศัพท์ไปยังร้านและทำการจองให้ โดยผู้ใช้งานจะได้รับการแจ้งเตือน อีเมลยืนยัน และการเชิญใน Calendar ซึ่งฟีเจอร์นี้ได้เริ่มใช้งานจริงไปแล้ว 43 รัฐในอเมริกา

AI Revolution

           สำหรับอังกฤษก็ไม่น้อยหน้าประเทศอื่น โดยเฉพาะเทคโนโลยี Deep learning ที่โดดเด่นเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยรัฐบาลอังกฤษประกาศให้ AI Revolution เป็นวาระสำคัญของชาติ โดยถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่จะช่วยเหลือ National Health Service (NHS) หรือสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ ในการใช้ AI คาดการณ์ผู้ป่วยที่มีโอกาสเกิดโรคมะเร็ง โดยอาศัยข้อมูลสุขภาพจาก NHS เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร และพันธุกรรม เพื่อช่วยวิเคราะห์ว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งหรือไม่

           อังกฤษยังมีเป้าหมายชัดเจนที่จะทำให้อุตสาหกรรม AI เติบโตขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือของภาคธุรกิจและสถานศึกษา นอกจากนี้รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้าน AI ด้วยการจัดตั้ง Office for AI ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่ทำงานร่วมกับสภา AI ที่ก่อตั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนการประสานงานและผลักดันนโยบายให้สำเร็จ อีกทั้งยังให้วีซ่าพิเศษสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้าน  AI เพื่อดึงดูดให้คนมีความสามารถเฉพาะทางเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศอังกฤษอีกด้วย

           บทบาทการช่วงชิงผู้นำด้านเทคโนโลยีไม่ได้มีเพียงแค่นี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่ตื่นตัวไม่แพ้กันและไม่ควรมองข้าม อย่างรัสเซียที่มีการวางแผนว่าภายในปี 2025 จะใช้ AI เข้ามาช่วยในด้านกองทัพ หรือแม้แต่สิงคโปร์ที่ทางรัฐบาลได้เริ่มทำการวิจัยในเรื่องของ AI แล้วเช่นกัน เห็นได้ชัดว่าประเทศที่ AI สามารถพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ส่วนสำคัญมาจากการสนับสนุนจากทุกภาพส่วน เพราะที่สุดแล้วมากกว่าการผลักดันประเทศให้เป็นผู้นำด้าน  AI เหนือสิ่งอื่นใดคือการพัฒนานวัตกรรมเพื่อประโยชน์ของประชาชนคนในชาติเป็นหลัก และที่สำคัญกว่าการฟาดฟันการเป็นที่หนึ่ง คือการนำเทคโนโลยีมาใช้งานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ นี่เป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

อ่านเพิ่มเติม >> AI VS Digital Ethics สองสิ่งนี้จะไปด้วยกันได้หรือไม่?

Share this article

กดติดตาม InnoHub

เพื่อรับข้อมูลข่าวสารและแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ