โลกของเรากำลังเผชิญกับความท้าทายมากมายหลายด้าน ทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมและสภาพสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง เมื่อเดือนกันยายน ปี 2015 องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงเสนอเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เพื่อให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกร่วมมือกันแก้ปัญหาข้างต้นภายในปี 2030
อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าของโครงการนี้กลับเป็นไปอย่างเชื่องช้ากว่าที่คาดการณ์จนอาจไม่สำเร็จตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ นักวิชาการหลายคนจึงเริ่มหันมาสนใจนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาปรับใช้เพื่อให้ทุกประเทศสามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้อย่างราบรื่น แต่ AI จะมีบทบาทอย่างไรบ้างนั้น บทความจาก InnoHub จะมาเล่าให้ฟัง
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) คืออะไร
แม้ว่าโลกของเราจะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลและเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่อันน่าตื่นตาตื่นใจมากมาย แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีผู้คนอีกหลายล้านคนทั่วโลกที่ต้องดำเนินชีวิตอย่างยากลำบากยิ่งขึ้นทุก ๆ วัน รายงานจาก Global Network Against Food Crises (GNAFC) เผยว่า ในปี 2021 มีประชากรกว่า 193 ล้านคนที่เผชิญกับการขาดแคลนอาหาร ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 40 ล้านคนจากปี 2020 นอกจากนี้ อุณหภูมิของพื้นผิวโลกยังสูงขึ้นทุก ๆ ปี รวมถึงปัญหาภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (Recession) และความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งอย่างรุนแรง
ด้วยเหตุนี้เอง องค์การสหประชาชาติจึงจัดทำและเสนอเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 ข้อ ที่ครอบคลุมทั้งมิติทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง เช่น เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจนทุกรูปแบบ เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการจ้างงานรวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง และเป้าหมายที่ 14 ปกป้องทรัพยากรทางทะเล เป็นต้น โดยแต่ละเป้าหมายจะประกอบไปด้วยเป้าประสงค์ (Targets) ที่อธิบายถึงรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ รวมแล้วเป็นจำนวนทั้งหมด 169 ข้อ
นอกจากนี้ ยังมีตัวชี้วัด (Indicators) ทั้งหมด 232 ข้อ ที่ช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมีหลักเกณฑ์สำหรับใช้ติดตามความก้าวหน้าของแต่ละเป้าประสงค์ ทั้งนี้ SDGs เป็นเพียงแนวทางเท่านั้นไม่ใช่ข้อบังคับที่หากประเทศไหนไม่ทำตามแล้วจะได้รับบทลงโทษ และในทุก ๆ ปี ประเทศสมาชิก UN จะเข้าร่วมการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) เพื่อรายงานผลและพัฒนาวิธีการขับเคลื่อนด้าน SDGs ของประเทศตัวเอง
ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะช่วยให้ประเทศทั่วโลกบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม รายงานปี 2022 จาก UN ยอมรับว่าการขับเคลื่อนและดำเนินนโยบายตามหลัก SDGs ของประเทศสมาชิกทั่วโลกในหลาย ๆ ด้าน เช่น ความมั่นคงทางอาหาร นั้นเป็นไปอย่างล่าช้าและอาจไม่สำเร็จภายในกรอบเวลาที่กำหนด เพราะต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง และยังเผชิญกับความท้าทายเก่าที่ทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงทั้งปัญหาใหม่อย่างโรคระบาดและสงครามระหว่างประเทศ เป็นต้น
ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จึงได้รับความสนใจในฐานะเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีศักยภาพพร้อมช่วยให้ทุกภาคส่วนบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายมากขึ้น โดยข้อได้เปรียบหลักของ AI คือ การคัดกรอง ประมวลผล และวิเคราะห์ฐานข้อมูลปริมาณมหาศาล หรือ Big Data ในคราวเดียวได้อย่างแม่นยำ องค์การสหประชาชาติเองได้ทดลองใช้อัลกอริทึมของ AI เปรียบเทียบข้อความในนโยบายของหน่วยงานรัฐกับเป้าหมายของ SDGs เพื่อตรวจสอบดูว่าแผนพัฒนาประเทศสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่ ผลลัพธ์คือ AI สามารถย่นระยะเวลากระบวนการนี้จากหลายสัปดาห์เหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมง!
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยว่า AI มีศักยภาพในการช่วยบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้ครบทุกข้อทั้ง 3 ประเภทหลักไม่ว่าจะเป็นมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยปัญญาประดิษฐ์สามารถช่วยบรรลุเป้าประสงค์ได้ 134 ข้อ นับเป็น 79% ของนโยบาย SDGs ทั้งหมดเลยทีเดียว
- 3 เหตุผลสำคัญที่สตาร์ทอัพต้องหันมาใส่ใจหลักการ ESG
- 7 เทรนด์เทคโนโลยีที่น่าจับตามองในปี 2022
- 5 อาชีพที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจเข้ามาแทนที่มากที่สุดในอนาคต
3 ตัวอย่างของการใช้ AI ขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs
1. เป้าหมายด้านสังคม: เช่น การขจัดความยากจนและสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม ก็สามารถนำ AI มาช่วยวิเคราะห์คลังภาพถ่ายจากดาวเทียมว่าบริเวณไหนไม่ค่อยมีแสงไฟเข้มข้นช่วงกลางคืน เพราะมักมีแนวโน้มว่าประชากรในพื้นที่แห่งนั้นเข้าไม่ถึงแหล่งพลังงานและควรได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษนั่นเอง นอกจากนี้ AI ยังอาจกลายเป็นคุณครูที่สามารถสอนเด็ก ๆ ในชุมชนห่างไกลและปรับบทเรียนให้เข้ากับความต้องการเฉพาะตัวของนักเรียนแต่ละคนได้อย่างง่ายดาย
2. เป้าหมายด้านเศรษฐกิจ: ครอบคลุมเกี่ยวกับการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องและยั่งยืน การจ้างงานที่เหมาะสมกับทุกคนและลดความไม่เท่าเทียมทั้งในระหว่างประเทศ ซึ่งแม้หลายคนอาจกังวลว่า AI จะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งงานมากมาย แต่จริง ๆ แล้วเทคโนโลยีนี้จะแปลงกระบวนการทำงานที่มีลักษณะซ้ำซ้อนให้เป็นอัตโนมัติ เพิ่มประสิทธิภาพให้ผู้คนได้ใช้เวลาไปกับงานเชิงสร้างสรรค์ เพิ่มอาชีพใหม่กว่า 97 ล้านตำแหน่ง พร้อมเป็นเครื่องมือที่ช่วยแนะนำได้ว่าผู้ว่างงานแต่ละคนควรเสริมทักษะด้านไหนหรือเรียนคอร์สอะไรเพิ่มเติมจึงจะตอบโจทย์ความต้องการของนายจ้าง เป็นต้น
3. เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม: ตัวอย่างประโยชน์ของ AI ในด้านนี้ คือ สามารถวิเคราะห์ Big Data จนระบุพื้นที่ที่มีน้ำมันรั่วไหลในมหาสมุทรเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามากำจัดคราบได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ AI ในยานพาหนะไร้คนขับ หรือ Autonomous Vehicles ที่ใช้พลังงานสะอาดยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึง AI ที่วิเคราะห์ Big Data ด้านการเพาะปลูกจนช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องแม่นยำและเพิ่มผลผลิตได้ หรือที่เรียกว่า การเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) เช่น ควรให้ปุ๋ยและสารอาหารเพิ่มเติมเมื่อไหร่ หรือทราบว่าพืชกำลังเป็นโรคและหาทางรักษาได้ทันท่วงที เป็นต้น
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยี AI จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถช่วยให้หลายประเทศทั่วโลกบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้ง่ายกว่าที่เคย แต่ต้องอย่าลืมว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการที่ทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน และประชาชนทุกคนตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาข้างต้นและร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจังเพื่อรักษาทั้งคุณภาพชีวิตในสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน