5 สตาร์ทอัพ Internet of Waste ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์บริหารจัดการขยะสู้ภาวะโลกร้อน

กันยายน 5, 2023

หนึ่งในสิ่งที่หลายคนทั่วโลกต่างรู้สึกกังวลใจคงหนีไม่พ้นเรื่องปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่นับจะยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเพราะก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมและการทำปศุสัตว์ขนาดใหญ่

วันนี้ InnoHub จึงขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับสตาร์ทอัพจากทั่วทุกมุมโลกที่เลือกจะเข้ามาตอบโจทย์ความท้าทายดังกล่าวด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะเหลือทิ้ง หรือ Waste Management ซึ่งนับเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญของวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมนั่นเอง จะมีธุรกิจอะไรบ้าง ไปติดตามกันได้เลย

Internet of Waste คืออะไร

Internet of Waste คือ นวัตกรรมการบริหารจัดการของเสียและขยะมูลฝอยอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) หรือก็คือการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่าง ๆ มาเชื่อมต่อกันผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ต และสามารถเข้ามายกระดับกระบวนการดูแลและกำจัดของเสียให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสุดท้ายจะช่วยบรรเทาความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนทุกภาคส่วนได้อีกด้วย

5 สตาร์ทอัพด้าน Internet of Waste ที่น่าสนใจ

  1. Binology

Binology คือ สตาร์ทอัพจากประเทศรัสเซียที่ออกแบบและพัฒนานวัตกรรม IoT สำหรับการบริหารจัดการของเสียหลากหลายประเภท ยกตัวอย่าง เช่น SMART CITY BIN 120 ถังขยะอัจฉริยะขนาดใหญ่สำหรับจัดตั้งไว้ตามพื้นที่สาธารณะโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ โดยมีอัลกอริทึมที่สามารถสั่งการให้ระบบกดทับขยะในถังได้อัตโนมัติ ซึ่งช่วยเพิ่มปริมาณการรองรับของเหลือทิ้งต่าง ๆ ได้นั่นเอง นอกจากนี้ ถังขยะดังกล่าวยังมาพร้อมกับแอปพลิเคชัน Smart City Management ที่สามารถติดตามตัวชี้วัดมากมายทางออนไลน์ได้แบบเรียลไทม์ เช่น ประเภทของขยะ ปริมาณของขยะในถัง และสถานที่ตั้ง เป็นต้น 

อีกหนึ่งนวัตกรรมน่าสนใจจากบริษัท Binology คือ SMART CITY SEPARATION STATION 3 ที่มีลักษณะฟังก์ชันการทำงานหลักที่คล้ายคลึงกับ SMART CITY BIN 120 แต่จะแตกต่างกันตรงที่นวัตกรรมนี้เหมาะกับการติดตั้งไว้ในจุดที่มีผู้คนสัญจรพลุกพล่าน และสามารถคัดแยกประเภทของขยะได้ด้วยฝาปิดที่ผ่านการออกแบบมาให้มีรูปทรงต่าง ๆ นั่นเอง

นวัตกรรมถังขยะอัจฉริยะ SMART CITY SEPARATION STATION 3

  1. CozZo

CozZo คือ สตาร์ทอัพยุโรปจากประเทศบัลแกเรียผู้พัฒนาแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือสำหรับการวางแผนและบริหารจัดการอาหารภายในบ้านเพื่อลดของกินเหลือทิ้ง หรือที่เรียกกันว่า Food Waste ซึ่งจากสถิติแล้วมีปริมาณสูงถึงกว่า 1.3 พันล้านตันต่อปีเลยทีเดียว นอกจากนี้ อาหารเหลือทิ้งยังปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 3.3 พันล้านตันต่อปี

แอปพลิเคชันของ CozZo จะเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวด้วยฟีเจอร์ที่ออกแบบมาให้สามารถบันทึกและติดตามวันหมดอายุของอาหารหรือของสดประเภทต่าง ๆ ที่ซื้อมาได้อย่างสะดวกสบาย รวมถึงฟังก์ชันสำหรับจดบันทึกรายการสิ่งของที่ต้องซื้อเข้าบ้าน การวางแผนปรุงเมนูอาหารรายวันหรือรายสัปดาห์ รวมถึงมี AI ที่สามารถแนะนำสูตรอาหารให้สอดคล้องกับส่วนผสมต่าง ๆ ที่มีในบ้านได้อีกด้วย

ตัวอย่างบางส่วนของแอปพลิเคชัน CozZo

  1. Sensoneo

Sensoneo สตาร์ทอัพจากประเทศสโลวาเกียซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของทวีปยุโรปที่พัฒนาระบบบริหารจัดการของเสียอัจฉริยะ (Smart Waste Management) ให้แก่ 82 ประเทศทั่วโลกแล้ว เช่น สเปน ซาอุดีอาระเบีย และไซปรัส โดยนวัตกรรมของบริษัทสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทั้งในเมือง โรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งสถาบันการศึกษา

เทคโนโลยีของ Sensoneo ประกอบด้วยอุปกรณ์เซนเซอร์ที่สามารถตรวจจับประเภทและขนาดต่าง ๆ ของขยะในถังได้แบบเรียลไทม์ด้วยหลักการสะท้อนของคลื่นความถี่เสียง (Ultrasonic) นอกจากนี้ ยังเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตและสามารถส่งข้อมูลเชิงลึกหรือ Big Data ให้ผู้ใช้งานนำมาบริหารจัดการของเสียผ่านซอฟต์แวร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ทราบได้ว่าถังขยะในตำแหน่งนี้ใกล้เต็มแล้ว ควรจะวางแผนให้รถเดินทางไปจัดเก็บวันไหนด้วยเส้นทางใดจึงจะคุ้มค่าที่สุด เป็นต้น

ซอฟต์แวร์การบริหารจัดการของเสีย Waste Management System (WMS) จาก Sensoneo

  1. ReKart

ReKart บริษัทสตาร์อัพในอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีขยะถึงปีละ 227 ล้านตัน โดย 77% ในนั้นไม่ได้รับการรีไซเคิลแต่ถูกทิ้งไว้ตามพื้นที่ฝังกลบสิ่งปฏิกูล (Landfill) ที่มีอยู่มากกว่า 3,100 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งปล่อยทั้งก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศจนส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพของผู้คนในท้องที่อีกด้วย

สตาร์ทอัพอย่าง ReKart จึงเข้ามาแก้ไขความท้าทายด้านนี้ด้วยการเป็น Producer Responsibility Organization (PRO) หรือบริษัทที่ช่วยจัดเก็บและบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์เหลือทิ้ง (E-waste) จากธุรกิจในอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง อุปกรณ์ที่มีระบบ IoT รวมถึงซอฟต์แวร์สำหรับการวางแผนและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจรอีกด้วย

พื้นที่ฝังกลบสิ่งปฏิกูลในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

  1. GEPP Sa-Ard

สตาร์ทอัพด้าน Internet of Waste บริษัทสุดท้ายที่ InnoHub นำมาฝากวันนี้ คือ GEPP Sa-Ard (เก็บสะอาด) จากประเทศไทยที่ก่อตั้งขึ้นโดยฝีมือของคุณโดม บุญญานุรักษ์ และคุณมยุรี อรุณวานนท์ ที่ช่วยเชื่อมต่อผู้ที่ต้องการคัดแยกและขายขยะเข้ากับธุรกิจผู้รับซื้อขยะรีไซเคิลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ โดยมีรถขนส่งที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ GEPP Sa-Ard ไปรับขยะถึงที่หมาย พร้อมรายงานข้อมูลว่าขยะเดินทางไปสิ้นสุดที่ไหน หรือจะผ่านกระบวนการรีไซเคิลอย่างไรต่ออีกด้วย

ปัจจุบัน GEPP Sa-Ard ให้บริการใน 13 พื้นที่บริเวณใจกลางกรุงเทพฯ เช่น สาทร ลาดพร้าว จตุจักร เป็นต้น  นอกจากนี้ ยังได้ช่วยรีไซเคิลขยะไปแล้วเป็นปริมาณสูงถึง 2 ตัน รวมถึงมีผู้ใช้งานแล้วมากกว่า 1,000 คนและกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นอีกหนึ่งสตาร์ทอัพสัญชาติไทยด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่น่าจับตามองในอนาคต 

แม้ว่าภาวะโลกร้อนและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นเรื่องที่น่าวิตก แต่หากภาคธุรกิจนำเทคโนโลยียุคใหม่มาต่อยอดเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถบรรเทาปัญหาดังกล่าว และสร้างผลตอบแทนได้ไปพร้อม ๆ กับขับเคลื่อนให้โลกของเราพัฒนาอย่างยั่งยืน

Share this article

กดติดตาม InnoHub

เพื่อรับข้อมูลข่าวสารและแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ