ถอดบทเรียนจาก 3 บริษัทดังสร้างนวัตกรรมโมเดลธุรกิจ (Business Model Innovation) ให้ประสบความสำเร็จ

กรกฎาคม 4, 2023

การเริ่มทำธุรกิจใหม่นั้น นอกจากจะมีแผนธุรกิจที่ดีแล้ว การมองเห็นภาพว่าสินค้าหรือบริการคืออะไร แหล่งรายได้ของธุรกิจมาจากไหน และจะสร้างกำไรได้อย่างไร ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมแต่ละบริษัทจึงควรมีโมเดลธุรกิจ (Business Model) ที่จะช่วยทำให้มองเห็นภาพรวมและทิศทางของธุรกิจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ในปัจจุบันสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจแตกต่างไปจากเดิม การสร้างนวัตกรรมโมเดลธุรกิจ (Business Model Innovation) จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ ปรับปรุงโมเดลธุรกิจให้เท่าทันยุคสมัยและทำให้องค์กรสามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่น ๆ ในตลาดได้ด้วยคุณค่าที่แตกต่าง

ในบทความนี้ InnoHub ขอมาแนะนำให้รู้จักกับนวัตกรรมโมเดลธุรกิจ (Business Model Innovation) มันคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร พร้อมตัวอย่างการสร้างนวัตกรรมโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากบริษัทชื่อดังมาให้ศึกษากัน ตามไปดูกันเลย

นวัตกรรมโมเดลธุรกิจ (Business Model Innovation) คืออะไร

นวัตกรรมโมเดลธุรกิจคือการปรับเปลี่ยนธุรกิจรูปแบบเดิมไปสู่ธุรกิจรูปแบบใหม่โดยการปรับหรือสร้างคุณค่า (Value Proposition) ที่ธุรกิจส่งมอบให้ลูกค้าขึ้นใหม่ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกระบวนการภายในองค์กร เพื่อปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลง มอบโอกาสในการเสนอคุณค่าที่แตกต่างและโดดเด่นให้กับลูกค้า ทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันกับบริษัทอื่น ๆ ในตลาดได้

นวัตกรรมโมเดลธุรกิจต่างจากโมเดลธุรกิจทั่วไปอย่างไร

การสร้างโมเดลธุรกิจทั่วไป (Business Model) มักประกอบด้วยสามหัวใจหลัก คือ คุณค่าที่องค์กรสร้าง คุณค่าที่องค์กรส่งมอบให้ลูกค้า และคุณค่าที่องค์กรรักษาไว้ ส่วนนวัตกรรมโมเดลธุรกิจ (Business Model Innovation) นั้นก็คือกระบวนการพัฒนารูปแบบการสร้าง ส่งมอบ และรักษาคุณค่าขึ้นมาใหม่ ซึ่งต่างจากการพัฒนาสินค้าหรือบริการชนิดใหม่ขึ้นมาและไม่ใช่เพียงการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานเหมือนอย่างโมเดลธุรกิจทั่วไป เพราะพื้นฐานของการสร้างนวัตกรรมโมเดลธุรกิจคือการทบทวนหาความต้องการใหม่ของผู้บริโภคเพื่อปรับเปลี่ยนทรัพยากร กระบวนการดำเนินธุรกิจ และวิธีการสร้างกำไรให้สอดคล้องกับรูปแบบใหม่ของธุรกิจและนำไปสู่ความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ ดังนั้นกระบวนการสร้างนวัตกรรมโมเดลธุรกิจจึงรวมไปถึงการศึกษาและเลือกกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดใหม่ การสร้างคุณค่าของธุรกิจขึ้นใหม่ การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ประกอบธุรกิจ การสร้างช่องทางใหม่สำหรับกระแสรายได้ (Revenue Streams) และการทดลองวิธีใหม่ ๆ ในการกระจายสินค้าหรือส่งมอบบริการ

เมื่อเทียบกับโมเดลธุรกิจแบบเดิมแล้ว นวัตกรรมโมเดลธุรกิจมักสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากและชัดเจนกว่า เพราะเป็นกระบวนการที่มีผู้ประกอบการต้องลงทุนพร้อมทั้งรับมือกับความเสี่ยงจากการทดลองเปลี่ยน แต่ก็เป็นกระบวนการที่สามารถนำมาซึ่งผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่สูงขึ้น การขยายตัวของธุรกิจ และส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้น

ตัวอย่างนวัตกรรมโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

1. Amazon

ที่มา: https://www.amazon.com/

Amazon ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2537 โดย Jeff Bezos ซึ่งเล็งเห็นโอกาสในการทำธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเริ่มจากการเป็นแพลตฟอร์มขายของออนไลน์และสินค้าชนิดแรกคือหนังสือ และเริ่มขยายตลาดไปจำหน่ายสินค้าอื่น เช่น เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในเวลาต่อมา

หลังจากนั้น Amazon ในฐานะบริษัทผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ได้ปรับตัวด้วยการเพิ่มระบบสมัครสมาชิกเพื่อรับบริการ (Subscription) ที่รู้จักกันในชื่อ Amazon Prime โดยผู้บริโภคสามารถชำระเงินค่าบริการแบบรายเดือนหรือรายปีเพื่อเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของ Amazon ผู้บริโภคจึงจะได้รับบริการอย่างต่อเนื่องและมีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะใช้บริการต่อหรือยกเลิกเมื่อไม่ใช้บริการ ยิ่งไปกว่านั้น Amazon Prime ยังมอบสิทธิประโยชน์มากมายให้กับสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นการส่งสินค้าฟรี การรับชมเนื้อหาบนแพลตฟอร์มสตรีมมิง หรือส่วนลดพิเศษและอื่น ๆ ซึ่งในปัจจุบัน Amazon Prime มีสมาชิกอยู่มากกว่า 200 ล้านคนทั่วโลก

นอกจากนี้ Amazon ยังมีการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าเพื่อเสนอสินค้า บริการ และคอนเทนต์ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่สุด และกระตุ้นให้เกิดการซื้อซ้ำ การลงทุนกับโมเดลใหม่จึงช่วยเสริมจุดแข็งด้านบริการที่คุ้มค่าและสะดวกสบาย ทำให้ Amazon สามารถขยายฐานลูกค้าไปได้อย่างกว้างขวางและหลากหลาย

2. Airbnb

ที่มา: https://news.airbnb.com/media-assets/

Airbnb ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2551 โดย Brian Chesky, Joe Gebbia และ Nathan Blecharczyk ซึ่งความจริงแล้ว จุดเริ่มต้นของ Airbnb นั้นเป็นเพียงการเปิดห้องให้คนมาเช่า โดยมีที่นอนเป่าลมและอาหารเช้าให้ พวกเขาลงประกาศผ่านเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นมาง่าย ๆ และมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเหล่าดีไซเนอร์ที่หาห้องพักในซานฟรานซิสโกเท่านั้นเอง

จากนั้น Airbnb ก็ได้พัฒนาโมเดลขึ้นใหม่ โดยเปลี่ยนจากผู้ลงทุนจัดหาที่พักด้วยตัวเองมาเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางสำหรับการจองที่พักระหว่างเจ้าของห้องและผู้เช่า บริการลักษณะนี้ทำให้ Airbnb กลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับเจ้าของที่พักต้องการสร้างรายได้ รวมถึงนักท่องเที่ยวหรือผู้เช่าที่ต้องการตัวเลือกหลากหลาย ราคาไม่แพง และประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร

3. Netflix

ที่มา: https://about.netflix.com/en/company-assets

Netflix ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2540 โดย Reed Hastings และ Marc Randolph ในฐานะร้านเช่าดีวีดีแบบจัดส่งถึงบ้าน โดยได้เปิดตัวเว็บไซต์สำหรับเช่าและขายดีวีดีในปีถัดมา จากนั้นในปี 2542 ก็ได้เปิดตัวบริการสมัครสมาชิกให้สมาชิกสามารถเช่าดีวีดีได้แบบไม่จำกัด

และในปี 2550 Netflix ได้เปลี่ยนจากธุรกิจเช่าดีวีดีแบบเดิมมาให้บริการวิดีโอสตรีมมิงโดยการสมัครสมาชิกแบบรายเดือนหรือรายปีเพื่อรับชมเนื้อหาภาพยนตร์ ซีรีส์ และรายการต่าง ๆ อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน หรือที่เรียกว่าโมเดล Subscription Video on Demand (SVOD) นั่นเอง

นอกจากนี้ Netflix ยังศึกษาข้อมูลของสมาชิกและนำมาใช้พัฒนาระบบแนะนำคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ช่วยให้ Netflix สามารถรักษาฐานลูกค้าไว้ได้อย่างยั่งยืน ไม่เท่านั้น จากเดิมที่เป็นเพียงผู้ซื้อลิขสิทธิ์เนื้อหาจากบริษัทอื่น ๆ Netflix ยังนำข้อมูลที่ได้ไปต่อยอดผลิตเนื้อหาของตัวเองอีกด้วย ซึ่งทำให้ Netflix สามารถขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนที่หลากหลายทั้งในแง่เชื้อชาติ วัฒนธรรม และความสนใจ ส่งผลให้ทุกวันนี้ Netflix มียอดสมาชิกมากกว่า 232.5 ล้านคนเลยทีเดียว

กลยุทธ์การสร้างนวัตกรรมโมเดลธุรกิจ

จากตัวอย่างทั้งสามบริษัทข้างต้น อาจสรุปแนวทางการสร้างนวัตกรรมโมเดลธุรกิจได้ดังนี้

1. ระบุความต้องการ หรือสิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับลูกค้า ก่อนที่จะเริ่มปรับเปลี่ยนอะไรก็ตาม เราต้องรู้ก่อนว่าปัญหาที่เราควรแก้คืออะไร จากนั้นจึงค่อยระดมความคิดเพื่อหาทางออก

2. ร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง การจะพัฒนาและลงมือทำสิ่งใหม่ให้สำเร็จลุล่วงได้ต้องอาศัยการร่วมมือกันระหว่างสมาชิกในทีม คนในองค์กร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถคว้าโอกาสและก้าวข้ามอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นได้

3. การทดลองทำสิ่งใหม่ สิ่งสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงคือความกล้าในการทดลองทำอะไรใหม่ ๆ เพราะกระบวนการนี้จะทำให้เรารู้ว่ามีตัวเลือกใดบ้างที่ได้ผล หรือไม่ได้ผล

4. ปรับตัวและลงมือทำอย่างรวดเร็ว ความรวดเร็วก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างนวัตกรรมโมเดลธุรกิจที่เท่าทันยุคสมัย เพราะความต้องการของลูกค้าและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ศักยภาพในการปรับตัวอย่างรวดเร็วจะทำให้องค์กรสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ได้

5. กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ แต่ละองค์กรควรกำหนดตัวชี้วัด หรือดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (Key Performance Indicator: KPI) เอาไว้อย่างชัดเจน เพื่อใช้ประเมินประสิทธิภาพของของการดำเนินงาน และเพื่อให้สามารถเสริมจุดแข็งพร้อมกับกำจัดจุดอ่อนได้ในอนาคต

การเริ่มทำธุรกิจนั้นไม่ง่าย แต่การดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดนั้นท้าทายยิ่งกว่า เพื่อก้าวให้ทันโลกที่หมุนเร็วขึ้น ธุรกิจควรสร้างนวัตกรรมโมเดลธุรกิจเพื่อรักษาตำแหน่งในตลาดและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับบริษัทอื่น ๆ แม้อนาคตจะไม่แน่นอน แต่ทั้งสามบริษัทที่ InnoHub ยกมาในบทความนี้ก็ได้แสดงให้เห็นถึงการก้าวข้ามรูปแบบธุรกิจเดิม ๆ ทำความเข้าใจสิ่งใหม่ และยอมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนำไปสู่โอกาสใหม่ที่คุ้มค่า

Share this article

กดติดตาม InnoHub

เพื่อรับข้อมูลข่าวสารและแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ