สำรวจ 3 ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดกระแสการเลิกจ้าง (Layoff) ในธุรกิจเทคโนโลยี

เมษายน 5, 2024

แม้จะดูเหมือนว่าแวดวงเทคโนโลยีเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตทั่วทุกมุมโลก  แต่ทว่าทางฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ชาว IT กำลังเผชิญกับเทรนด์การเลิกจ้างครั้งใหญ่ หรือ The Great Tech Layoff ทั้งในบริษัทสตาร์ทอัพขนาดเล็กไปจนถึงองค์กรยักษ์ใหญ่ด้วยเช่นกัน ปัจจุบันสถานการณ์นี้เป็นอย่างไร เหตุใดอุตสาหกรรม IT ที่น่าจะเป็นดาวรุ่งกลับเกิดความท้าทายครั้งสำคัญนี้ขึ้น แล้วคนทำงานควรรับมืออย่างไรดี ตาม InnoHub มาหาคำตอบกันได้เลย

สถานการณ์การเลิกจ้างในอุตสาหกรรม IT (อัปเดต 2024)

กระแสการเลิกจ้างพนักงานหรือที่เรียกกันว่า Layoff ของบรรดาบริษัทเทคโนโลยีหลากหลายแขนงในประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อช่วงปี 2022 โดยมีทั้งการงดรับพนักงานใหม่ ๆ เข้ามาในองค์กร (Hiring Freeze) รวมไปถึงการปลดพนักงานปัจจุบันในหลายแผนกออกจากบริษัทด้วยเช่นกัน โดยข้อมูลตัวเลขที่บันทึกไว้เผยว่า เมื่อปี 2022 มีชาว IT ทั่วโลกโดยเฉพาะในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบมากกว่า 165,000 คน ปี 2023 มีทั้งหมด 258,000 คน ในต้นปี 2024 นี้มีจำนวนสูงถึงประมาณ 50,000 คนแล้วแม้เวลาจะเพิ่งผ่านพ้นมาถึงเดือนมีนาคมเท่านั้น สถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นเทรนด์การเลิกจ้างที่ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นและไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงในอนาคตอันใกล้

ตัวอย่างของบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังระดับโลกในสหรัฐฯ ที่เลิกจ้างพนักงานของตัวเองอย่างต่อเนื่องมีมากมายหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น Amazon ผู้ดำเนินธุรกิจแพลตฟอร์ม E-Commerce บริการระบบคลาวด์ คอนเทนต์วิดีโอสตรีมมิง Prime Video ฯลฯ ที่ปลดพนักงานรวมแล้วกว่า 27,000 คนตั้งแต่เมื่อปลายปี 2022 ทางด้าน Microsoft บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์รายใหญ่ ก็ปลดพนักงานกว่า 10,000 คนเมื่อปี 2023 และตัดสินใจเลิกจ้างในปี 2024 อีกประมาณ 1,900 คนใน Activision Blizzard และ Xbox ซึ่งเป็นบริษัทลูกด้านผลิตภัณฑ์เกมอันดับต้น ๆ ของวงการ นอกจากนี้ Google ผู้นำของอุตสาหกรรม IT ยังได้ประกาศเลิกจ้างงานสูงถึง 12,000 ตำแหน่งเมื่อปี 2023 และเตรียมปลดพนักงานทั่วโลกอีกมากกว่า 1,000 คนภายในปี 2024 อีกด้วย

สาเหตุของการเลิกจ้างในอุตสาหกรรม IT

คำถามสำคัญที่หลายคนอาจกำลังสงสัยอยู่คือทำไมถึงเกิดปรากฎการณ์เลิกจ้างครั้งใหญ่ในธุรกิจเทคโนโลยี ไม่เว้นแม้กระทั่งกับบริษัทขนาดยักษ์ที่เป็นถึงผู้นำด้าน IT ระดับโลก InnoHub ขอสรุปสาเหตุหลัก ๆ ออกมาทั้งหมด 3 ข้อต่อไปนี้

  1. ความกดดันจากนักลงทุน : ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนในตลาดทั้งรายใหญ่และรายย่อยต่างคาดหวังที่จะได้เห็นผลประกอบการที่เติบโตขึ้นของบริษัทเทคโนโลยี รวมถึงต้องการผลกำไรในพอร์ตการลงทุนของตัวเอง ดังนั้นจึงเกิดเป็นแรงกดดันให้ธุรกิจ IT ยักษ์ใหญ่บนตลาดหลักทรัพย์ต้องพยายามลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ ซึ่งหนึ่งในวิธีคือการปรับโครงสร้างองค์กรและลดจำนวนพนักงานนั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้น ราคาหุ้นของหลายบริษัท IT ชั้นนำพุ่งสูงขึ้นหลังออกประกาศข่าวการเลิกจ้างอีกด้วย จึงยิ่งกลายเป็นแบบอย่างที่กระตุ้นให้องค์กรอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันปลดพนักงานตามไปด้วย
  1. การจ้างงานมากเกินไปในช่วงวิกฤตโควิด-19 : ย้อนกลับไปเมื่อประมาณช่วงปี 2019 ที่ไวรัสโคโรนากำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรงจนหลายประเทศทั่วโลกต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ให้ประชาชนเว้นระยะห่างและทำงานจากที่บ้าน เทคโนโลยีดิจิทัลมากมายจึงเข้ามาอำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์การประชุมออนไลน์ แอปพลิเคชันรับส่งอาหาร แพลตฟอร์มสตรีมมิง ฯลฯ ความนิยมอย่างฉับพลันนี้ส่งผลให้บริษัท IT ต้องเร่งจัดจ้างพนักงานจำนวนมากเข้ามาเพื่อตอบสนองความต้องการที่ทวีคูณขึ้นและคว้าโอกาสทางธุรกิจไว้ แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 บรรเทาลง พฤติกรรมผู้บริโภคก็เริ่มกลับมาเป็นปกติ อีกทั้งเศรษฐกิจยังเติบโตค่อนข้างช้าอีกด้วย บริษัท IT จึงจำเป็นต้องตัดสินใจลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจด้วยการเลิกจ้างพนักงานบางส่วนออกไปนั่นเอง
  1. การเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ (AI) : เทคโนโลยีที่กำลังเป็นจุดสนใจของผู้คนทั่วโลกอย่างปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence โดยเฉพาะ Generative AI ที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เช่น ChatGPT, Dreamcatcher หรือ DALL-E ได้เข้ามาช่วยยกระดับกระบวนการทำงานในหลายแผนกให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่ตามมาคือ AI นั้นทำให้ผู้นำในหลายองค์กรตัดสินใจหันมาใช้เครื่องมือดังกล่าวทดแทนแรงงานจากมนุษย์เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรในระยะยาว ตัวอย่างเช่น Arvind Krishna ผู้บริหารของ IBM บริษัทผู้ผลิตและให้บริการเทคโนโลยีระดับโลก ที่เตรียมเลิกจ้างพนักงานบางส่วนในฝ่ายสื่อสารการตลาด และวางแผนใช้นวัตกรรม AI เข้ามาแทนมากกว่า 8,000 ตำแหน่งภายในอีก 5 ปีข้างหน้า

แม้ว่าข่าวการเลิกจ้างงานในอุตสาหกรรม IT เหล่านี้จะฟังดูน่าตกใจและอาจทำให้ใครหลายคนเป็นกังวล แต่ในทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงย่อมมีหนทางใหม่ ๆ และโอกาสในการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพราะตอนนี้ความต้องการและผลตอบแทนของพนักงานที่เชี่ยวชาญด้าน AI กำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยที่ยังขาดแคลนบุคลากรด้าน IT อีกมากกว่า 1 ล้านคนมาช่วยกันพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศให้มีคุณภาพทัดเทียมระดับสากล

Share this article

กดติดตาม InnoHub

เพื่อรับข้อมูลข่าวสารและแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ