ผลกระทบของ Generative AI: Creator ต้องปรับตัวอย่างไรในยุคปัญญาประดิษฐ์

สิงหาคม 7, 2023

ทุกวันนี้ ผู้ที่มีความสามารถในการผลิตงานจำพวกบทความ เพลง หรือรูปวาดนั้นไม่ได้มีเพียงมนุษย์อีกต่อไป เพราะ AI เองก็มีศักยภาพในการเรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงานเหล่านี้เช่นกัน การเติบโตของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะ Generative AI กำลังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทีละเล็กทีละน้อย ดังนั้นครีเอเตอร์ในปัจจุบันไม่ได้กำลังแข่งขันกับบุคคลในแวดวงเดียวกันเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งขันกับ AI เพื่อรักษาที่ยืนในตลาดเอาไว้ให้ได้ มิฉะนั้นอาจถูกแซงหน้าไปโดยไม่ทันตั้งตัว

บทความนี้ของ InnoHub จะตีแผ่ผลกระทบที่ Generative AI มีต่อครีเอเตอร์ พร้อมกับแบ่งปันกลยุทธ์ในการเอาชนะเหล่าปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาขึ้นทุกวันให้ได้

ยุคสมัยของ Generative AI ส่งผลกระทบต่อครีเอเตอร์อย่างไรบ้าง

  • การถูกแย่งงาน Generative AI อาจเข้ามาทำงานแทนที่ครีเอเตอร์บางตำแหน่งหรือเปลี่ยนแปลงลักษณะงานด้านการสร้างสรรค์ได้ ไม่ว่าจะเป็นงานเกี่ยวกับการเขียน การวาดรูป การเขียนโค้ด หรือแม้กระทั่งงานที่ใช้ความรู้และทักษะอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้บทบาทของมนุษย์ลดลงและบริษัทเริ่มเปลี่ยนไปมองหาทักษะใหม่ ๆ สำหรับตำแหน่งงานด้านการสร้างสรรค์ เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ การเรียนรู้ด้วยตนเอง​ รวมไปถึงทักษะการเลือกใช้ ดูแล และควบคุมอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี เป็นต้น
  • การแข่งขันกับระบบอัลกอริทึม ระบบอัลกอริทึมของ AI สามารถประมวลผลและผลิตผลงานปริมาณมากออกมาได้ภายในระยะเวลาสั้น ๆ นอกจากนี้ ระบบอัลกอริทึมยังสามารถเรียนรู้และพัฒนาขึ้นได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย ผลงานที่ถูกสร้างขึ้นด้วยอัลกอริทึมของ AI จึงอาจเข้ามาเบียดเบียนพื้นที่ของคอนเทนต์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ได้
  • ปัญหาลิขสิทธิ์ การใช้ AI เรียนรู้ทักษะการสร้างสรรค์ผลงานมีโอกาสเกิดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาได้ เนื่องจากอาจมีการนำผลงานของครีเอเตอร์ไปเป็นต้นแบบโดยไม่ได้รับอนุญาต
  • ข้อมูลและคอนเทนต์ปริมาณมหาศาล เมื่อ Generative AI สามารถสร้างคอนเทนต์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด ก็อาจทำให้มีคอนเทนต์ปริมาณมากเกินไปจนผู้บริโภคหาผลงานคุณภาพที่สร้างสรรค์โดยมนุษย์จริง ๆ ได้ยาก และยังมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ตัวกรองฟองสบู่ (Filter Bubble) หรือสถานการณ์ที่ระบบกรองข้อมูลนำเสนอเฉพาะสิ่งที่เราสนใจหรือถูกใจเท่านั้น และปิดกั้นเราออกจากข้อมูลในแง่มุมอื่น ๆ
  • ความถูกต้องและคุณภาพที่อาจลดลง แม้ว่าโมเดลของ Generative AI จะผลิตคอนเทนต์ที่ดูเป็นข้อเท็จจริง แต่ข้อมูลเหล่านั้นไม่ได้ถูกต้องเสมอไป อาจมีข้อมูลที่ผิดพลาดหรือตรรกะที่ผิดเพี้ยนปะปนมาได้ ผู้บริโภคจึงอาจเชื่อถือข้อมูลที่มาจากมนุษย์มากกว่า ซึ่งนั่นหมายความว่ารัฐบาลรวมถึงบริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจำเป็นต้องมีมาตรการจัดการและคัดกรองที่รัดกุมยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันการบิดเบือนข้อมูลหรือการกระจายข่าวเท็จ
  • การผูกขาดตลาด Generative AI อาจให้ผลการค้นหาที่คลาดเคลื่อนได้ ซึ่งจะส่งผลให้การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มีต้นทุน (Search Cost) สูงขึ้น ในที่นี้หมายถึงผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอาจต้องใช้เวลา ความพยายาม และทรัพยากรอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเพื่อที่จะค้นหาคอนเทนต์ที่ต้องการจนเจอ ประกอบกับการที่ครีเอเตอร์จำนวนหนึ่งมีอิทธิพลสูงในตลาด ทำให้ครีเอเตอร์หน้าใหม่มีโอกาสเติบโตได้น้อย
  • ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ถดถอย Generative AI นับเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้มนุษย์ทำงานได้ง่ายขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นตัวบ่อนทำลายความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ได้หากผู้ใช้งานพึ่งพา AI มากจนเกินไป และอาจส่งผลให้ผลงานหรือไอเดียใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์โดยมนุษย์ไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่ควร
  • บทบาทของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป จริงอยู่ว่าศักยภาพของ AI ทำให้ผลงานสร้างสรรค์กลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่าย แต่อีกแง่หนึ่ง ครีเอเตอร์ยังได้เปรียบ Generative AI ในด้านความคิดริเริ่มที่แปลกใหม่และหลากหลาย นอกจากนี้ ความคิดสร้างสรรค์และความตระหนักรู้ทางสังคมอาจยิ่งทวีคุณค่าขึ้นทำให้บทบาทของมนุษย์เปลี่ยนไป จากผู้ลงมือสร้างชิ้นงานเองทุกขั้นตอน กลายเป็นผู้คัดสรร ปรับปรุง และประเมินผลงานของ AI ครีเอเตอร์จึงสามารถหันมาใช้เวลากับงานระดับสูงที่ต้องอาศัยหลักเหตุผลอันซับซ้อนของมนุษย์แทน

ครีเอเตอร์ในปัจจุบันต้องเผชิญความท้าทายแบบใดบ้าง

  • การพึ่งพา AI มากเกินไป ต้องยอมรับว่าหนึ่งในเหตุผลที่ Generative AI ได้รับความนิยมคือศักยภาพในการทำงานแทนมนุษย์ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย แม้จะเป็นตัวช่วยที่ทำให้งานง่ายขึ้น แต่ AI ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้ทั้งหมด การใช้งาน AI เพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ครีเอเตอร์สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริโภค มีผลงานติดอันดับบนหน้า Google หรือแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น ๆ ครีเอเตอร์จึงต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตนเองร่วมกับความเข้าใจในบริบทของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อผลิตผลงานที่มีเอกลักษณ์และมีความหมายขึ้นมา
  • ความสมดุลระหว่างคุณภาพและปริมาณ ปริมาณของคอนเทนต์ไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จ การสร้างสรรค์ผลงานออกมาในปริมาณมากอาจไม่ได้ส่งผลดีเสมอไป เพราะการพยายามนำเสนอเนื้อหาให้กับผู้บริโภคมากเกินพอดีอาจทำให้เกิดความรำคาญและสูญเสียยอดการมีส่วนร่วม (Engagement) ไปได้ การรักษาสมดุลระหว่างปริมาณและคุณภาพจึงสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน
  • การดึงดูดผู้บริโภค โลกอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันมีข้อมูลปริมาณมากและกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การทำให้ตัวเองโดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางข้อมูลเหล่านั้นจึงเป็นความท้าทายสำคัญของเหล่าครีเอเตอร์ และการเพิ่มบทบาทของ Generative AI จะยิ่งทำให้การแข่งขันนี้เข้มข้นยิ่งกว่าเดิม

ครีเอเตอร์จะสามารถเอาตัวรอดในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้อย่างไร

  • ครีเอเตอร์ควรรู้วิธีใช้ประโยชน์จาก AI โดยระบบอัตโนมัติของ AI สามารถช่วยให้ครีเอเตอร์ประหยัดเวลาจากการทำงานที่อาจจะมีขั้นตอนซ้ำซ้อน เพื่อมุ่งความสนใจไปที่การพัฒนาทักษะ รวมถึงการทำงานระดับสูงอื่น ๆ ได้อย่างเต็มที่
  • ครีเอเตอร์ควรหมั่นพัฒนาคอนเทนต์ให้มีเอกลักษณ์และแปลกใหม่เพื่อให้ผลงานของตัวเองมีความโดดเด่นและทันสมัย แตกต่างจากคอนเทนต์อื่น ๆ ที่มีอยู่จำนวนมาก
  • การได้รับความสนใจจากผู้บริโภคนับเป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น เหล่าครีเอเตอร์จำเป็นต้องรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ให้ได้ด้วยการสร้างความประทับใจให้กับพวกเขา เช่น การสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ และส่งมอบผลงานให้ได้ตามสัญญา

โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยทำงาน เทคโนโลยีอย่าง AI ได้กลายมาเป็นคู่แข่งคนสำคัญของเหล่าครีเอเตอร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นหัวใจสำคัญของการที่มนุษย์จะสามารถเอาตัวรอดและเติบโตในเส้นทางอาชีพสายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้ คือการรู้เท่าทันเทคโนโลยี และเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์จาก AI ให้ได้มากที่สุด

Share this article

กดติดตาม InnoHub

เพื่อรับข้อมูลข่าวสารและแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ