ประโยชน์ของเทคโนโลยีจัดเก็บภาษี (Tax Technology) ที่หน่วยงานรัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน ไม่ควรมองข้าม

พฤษภาคม 27, 2022

ประโยชน์ของเทคโนโลยีการจัดเก็บภาษี (Tax Technology)
ที่หน่วยงานรัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน ไม่ควรมองข้าม

การจัดเก็บภาษีนับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน เพราะเม็ดเงินเหล่านั้นจะกลับกลายมาเป็นทรัพยากรที่สามารถพัฒนาศักยภาพของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนนั่นเอง 

บทความจาก InnoHub ชิ้นนี้จึงขอพาทุกคนไปรู้จักกับเทคโนโลยีด้านภาษี หรือ Tax Technology ที่พร้อมจะเข้ามาพลิกโฉมกระบวนการจัดเก็บภาษีให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และสอดรับกับอนาคตแห่งโลกดิจิทัล

ปัญหาหลักในการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลคืออะไร

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจถึงความท้าทายหลัก ๆ ที่หน่วยงานภาครัฐทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country) ต้องเผชิญกันก่อน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ข้อดังต่อไปนี้

 1. บริษัทเอกชนข้ามชาติหลบเลี่ยงการจ่ายภาษี

ความท้าทายประการแรกของหน่วยงานรัฐทุกประเทศทั่วโลก คือ การกัดกร่อนฐานภาษีและเคลื่อนย้ายกำไร หรือ Base Erosion and Profit Shifting (BEPS) ซึ่งหมายถึงการที่บริษัทเอกชนข้ามชาติพยายามใช้กลยุทธ์และช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อหลบเลี่ยงการจ่ายภาษี โดยโยกย้ายรายได้หรือกำไรให้จ่ายภาษีในปริมาณน้อยหรือไม่ต้องจ่ายเลย  

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ประเมินว่า โดยเฉลี่ยแล้วในทุกปี พฤติกรรมการหลบเลี่ยงภาษีด้วยวิธี BEPS นี้ก่อให้เกิดมูลค่าความเสียหายทางรายได้แก่ทุกประเทศทั่วโลกมากถึง 1 – 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

2. ไม่มีคลังข้อมูลด้านภาษีที่ถูกต้องชัดเจนและครอบคลุมมากพอ

กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าขายในประเทศกำลังพัฒนานั้นส่วนใหญ่แล้วจะอยู่นอกระบบจนทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายกันด้วยเงินสด ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกรนำผลไม้จากในสวนของตัวเองไปขายที่ตลาดนัดใกล้บ้าน หรือการรับจ้างใช้แรงงานรายวัน เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย ปัญหานี้ส่งผลให้พนักงานบริษัทหรือเหล่า “มนุษย์เงินเดือน” กลายเป็นคนกลุ่มหลักที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะรับรายได้เป็นประจำผ่านทางบัญชีธนาคารอยู่ตลอดจึงหลีกเลี่ยงภาษีได้ยากนั่นเอง

สถิติจากการศึกษาของ ผศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าในประชากรกลุ่มแรงงานทั้งหมดกว่า 39 ล้านคน มีผู้จ่ายภาษีเพียงประมาณ 3 ล้านคน (10%) เท่านั้น โดยกว่า 80% ในนั้นคือมนุษย์เงินเดือน สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการเก็บภาษียังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนที่รัฐเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย

3. ผลกระทบจากการมาถึงของเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption)

นับตั้งแต่ภาคธุรกิจโอบรับอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ จนสามารถพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้บริการแก่ผู้คนทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย การจัดเก็บภาษีของภาครัฐกลับกลายเป็นความท้าทายครั้งใหม่ทันที เพราะกฎหมายดั้งเดิมระบุไว้ว่า ธุรกิจจำเป็นต้องจ่ายภาษีเฉพาะแก่รัฐบาลของประเทศที่เป็นฐานที่ตั้งของบริษัทเท่านั้น 

ยกตัวอย่างเช่น Google บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการเครื่องมือค้นหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต (Search Engine) ยอดนิยมของโลกรวมทั้งชาวไทย เป็นธุรกิจสัญชาติอเมริกันที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย จึงเสียภาษีเพียง 20 ล้านบาทให้กับประเทศไทยเท่านั้น แม้ว่าจะสามารถทำรายได้กว่า 3 ล้านล้านบาท (89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2016 ก็ตาม 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยเองก็เริ่มใช้กฎหมายภาษี e-Service เพื่อเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติแล้ว โดยหลังจากบังคับใช้เมื่อปี 2654 ทางกรมสรรพากรคาดว่าปีงบประมาณ 2565 นี้จะสามารถจัดเก็บได้ถึง 8,000 – 10,000 ล้านบาทเลยทีเดียว 

นอกจากนี้ ธนาคารโลก (World Bank) กล่าวว่าอีกหนึ่งความท้าทายจาก Digital Disruption คือ ระบบซอฟต์แวร์ด้านภาษีและทักษะด้าน IT ของพนักงานจัดเก็บภาษีทั้งในหน่วยงานรัฐและเอกชนนั้นยังไม่ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล เช่น เจ้าหน้าที่ต้องกรอกประวัติด้านภาษีต่าง ๆ ลงในระบบเอง หรือยังใช้ Spreadsheet ในโปรแกรม Excel เพื่อเก็บข้อมูล เป็นต้น 

ยิ่งไปกว่านั้น ผลสำรวจเมื่อปี 2020 จาก EY บริษัทตรวจสอบบัญชีระดับโลก พบว่า ชั่วโมงการทำงานมากถึง 40-70% นั้นหมดไปกับการจัดระเบียบข้อมูลภาษี (Data Cleansing) ให้ถูกต้องครบถ้วนแทนที่จะนำไปใช้กับงานที่เพิ่มคุณค่าได้มากกว่าอย่างการวิเคราะห์และวางแผนเชิงกลยุทธ์เพื่อพัฒนาระบบการเก็บภาษี 

เทคโนโลยีด้านภาษี (Tax Technology) คืออะไร

ข่าวดีคือเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ พร้อมเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาข้างต้น โดย Tax Technology หรือ เทคโนโลยีทางด้านภาษี ซึ่งหมายถึงระบบซอฟต์แวร์และเครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ ที่สามารถพลิกโฉมให้กระบวนการจัดเก็บภาษีมีประสิทธิผล ลดขั้นตอนความยุ่งยาก และประหยัดเวลาได้มากขึ้น

ปัจจุบัน เทคโนโลยีนี้กำลังได้รับการพัฒนาและเป็นที่สนใจในหลายประเทศทั่วโลก โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทหลัก ๆ ดังต่อไปนี้และจะยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต

  1. Robotic Process Automation (RPA): เทคโนโลยีที่พัฒนามาเพื่อช่วยทำให้ขั้นตอนการทำงานด้านภาษีที่มีลักษณะเป็นแพตเทิร์นง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน สามารถจัดการข้อมูลได้แบบอัตโนมัติ เช่น จากเดิมที่มนุษย์ต้องกรอกข้อมูลต่าง ๆ ใส่ตารางเพื่อสร้างเอกสารรายงานภาษีเอง ก็อาจคลิกโปรแกรมที่มีระบบ RPA เพียงไม่กี่ปุ่มก็สามารถดึงข้อมูลออกมาสร้างเป็นรีพอร์ตได้ภายในเวลาไม่กี่นาที เป็นต้น
  2. Smart Process Automation (SPA): เทคโนโลยีนี้มีลักษณะคล้ายกับ RPA จนถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า RPA 2.0 โดยเป็นการใช้ Machine Learning เข้ามาเสริมฟังก์ชัน RPA และช่วยให้ซอฟต์แวร์สามารถจดจำและเรียนรู้ขั้นตอนการทำงานด้านภาษีนั้น ๆ ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น จัดประเภทข้อมูลและเอกสารให้ถูกหมวดหมู่ เป็นต้น
  3. Artificial Intelligence (AI): ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ก็สามารถยกระดับการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการวิเคราะห์ข้อมูล Big Data และตรวจจับการทุจริตทางภาษี เช่น หลังจาก Goods and Service Tax (GST) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านภาษีของประเทศอินเดีย ได้ริเริ่มใช้ AI ก็พบการปลอมแปลงใบแจ้งหนี้ (Invoice) ถึง 1,620 กรณี และจับกุมผู้กระทำผิดจำนวนมากถึง 154 คน
  4. Cloud Computing: เทคโนโลยีคลังเก็บข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตหรือระบบคลาวด์ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นหลังวิกฤติโควิด-19 ที่หลายคนต้อง Work From Home (WFH) และทำงานทางไกลแบบ Remote จากที่ไหนก็ได้ 

งานด้านการจัดเก็บภาษีก็เช่นกันที่ควรหันมาใช้ซอฟต์แวร์ เช่น ระบบบริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กร หรือโปรแกรม Enterprise Resource Planning (ERP) ที่อยู่บนระบบคลาวด์เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกประเทศสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์ทุกที่ทุกเวลา ประหยัดทั้งต้นทุนด้านเวลาและเม็ดเงิน

อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีเหล่านี้จะสามารถเข้ามาพลิกโฉมการจัดเก็บภาษีและคลี่คลายปัญหาหลัก 3 ข้อข้างต้นได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องอย่าลืมว่าสุดท้ายแล้ว เราต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจระหว่างมนุษย์ที่เป็นผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งจากหน่วยงานรัฐและองค์กรเอกชนด้วยเช่นกัน การจัดเก็บภาษีจึงจะมีประสิทธิภาพและเที่ยงธรรมมากที่สุด

ดั่งที่ Oyebola Okunogbe นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลกให้ความเห็นที่น่าสนใจเอาไว้ว่า เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น แต่ต้นตอและรากฐานของความท้าทายด้านภาษีหลายประการยังคงเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์เอง ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ความเชื่อมั่นในรัฐบาลของประชาชน หรือความซื่อสัตย์สุจริตในอาชีพและหน้าที่พลเมืองของตัวเอง

Share this article

กดติดตาม InnoHub

เพื่อรับข้อมูลข่าวสารและแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ