ทำความรู้จัก Deep Web กับ Dark Web 2 เว็บไซต์นี้แตกต่างกันอย่างไร

ธันวาคม 15, 2022

แม้อินเทอร์เน็ตจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตยุคดิจิทัลที่ช่วยให้เกิดความสะดวกสบาย แต่บ่อยครั้งมักแฝงมาด้วยภัยอันตรายเช่นกัน โดยเฉพาะบนเว็บไซต์ที่ผิวเผินอาจจะดูเหมือนปลอดภัย แต่กลับมีสิ่งที่เรียกว่า Deep Web และ Dark Web อยู่ วันนี้ตาม InnoHub มาทำความเข้าใจกันดีกว่าว่าเว็บไซต์แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร และควรระมัดระวังอันตรายตรงไหนบ้าง

Surface Web คืออะไร

ก่อนอื่นต้องทำความรู้จัก Surface Web หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Visible Web กันก่อน ซึ่งก็คือเว็บไซต์ทั่วไปที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ๆ ผ่านซอฟต์แวร์ใช้งานเว็บไซต์ (Web Browser) รวมถึงเครื่องมือค้นหา (Search Engine) อย่าง Google ยกตัวอย่าง เช่น แพลตฟอร์มชื่อดังต่าง ๆ ได้แก่ Facebook YouTube และ Wikipedia เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้ว Surface Web นับเป็นเพียงส่วนน้อยของเว็บไซต์ทั้งหมดบนโลก โดยเฉลี่ยแล้วคิดเป็นเพียง 4-5% เท่านั้น โดยถือเป็นประเภทของเว็บไซต์ที่ค่อนข้างปลอดภัย ไม่มีอันตรายร้ายแรงมากนัก แม้จะไม่ 100% เพราะผู้บริโภคยังควรต้องระมัดระวังการโจมตีทางไซเบอร์ทั่วไป เช่น การหลอกขโมยข้อมูล (Phishing) 

Surface Web

Surface Web เปรียบเสมือนยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาให้ผู้คนเห็นได้ง่าย ๆ เท่านั้น
Credit: traversals

Deep Web คืออะไร

เว็บล่องหน หรือ Deep Web คือ เว็บไซต์ที่ไม่สามารถค้นเจอได้ผ่าน Search Engine ทั่วไปที่ผู้คนนิยมใช้กันอย่าง Google หรือ Yahoo โดยอาจแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทย่อย ได้แก่ 

  1. หน้าเว็บไซต์ที่ยังไม่ถูกจัดเก็บข้อมูล (Index) เข้าสู่ระบบของ Search Engine นั้น ๆ 
  2. หน้าเว็บไซต์ที่ต้องชำระเงินหรือสมัครสมาชิกก่อนจึงจะสามารถเข้าใช้งานได้ เช่น ซีรีย์และภาพยนตร์ต่าง ๆ บนแพลตฟอร์ม Netflix
  3. หน้าเว็บไซต์ที่เป็นส่วนตัวหรือเปิดให้เข้าถึงได้เฉพาะบุคคลเท่านั้น เช่น การชำระเงินให้ร้านค้าโดยใช้ PayPal หรือการแบ่งปันภาพใน Dropbox ที่ตั้งค่าให้เฉพาะเพื่อนบางคนมีสิทธิเข้าชมและดาวน์โหลด เป็นต้น
  4. เว็บมืด หรือ Dark Web 

Dark Web คืออะไร

Dark Web หรือ Darknet ถือเป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ประเภท Deep Web ที่หลายคนเคยได้ยินชื่อและรับรู้ถึงความอันตราย เว็บประเภทนี้จะสามารถเข้าใช้งานได้ผ่าน Search Engine และ Web Browser ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเท่านั้น เช่น TOR (The Onion Router) ซึ่งจะช่วยปกปิดตัวตนและที่อยู่ของผู้ใช้งาน ทำให้เนื้อหาต่าง ๆ บน Dark Web มีความเป็นส่วนตัว (Privacy) ไม่ถูกตรวจสอบควบคุมจากหน่วยงานรัฐหรือบริษัทเทคโนโลยีเจ้าของแพลตฟอร์ม

อย่างไรก็ตาม คุณสมบัตินี้ก็เปรียบเสมือนดาบสองคมที่ทำให้ Dark Web กลายเป็นเครื่องมือที่มักถูกนำไปใช้ในเรื่องผิดกฎหมาย เช่น การค้ายาเสพติด การค้าของเถื่อน การค้าอาวุธสงคราม รวมถึงบรรดามิจฉาชีพก็มักใช้เว็บไซต์ประเภทนี้เพื่อเจาะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ เช่น ข้อมูลบัตรเครดิต ข้อมูลลับของบริษัท แล้วนำไปประกาศขายทำกำไร เป็นต้น

ตัวอย่างของ Dark Web ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากที่สุด คือ Silk Road เว็บไซต์ที่เป็นเหมือนตลาดมืดสำหรับซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้าผิดกฎหมายหลากหลายประเภท โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2011 ก่อนจะถูก FBI หน่วยงานข่าวกรองและความมั่นคงภายในของสหรัฐฯ สั่งปิดแพลตฟอร์มลงเมื่อปี 2013 พร้อมจับ Ross Ulbricht ผู้ก่อตั้ง Silk Road เข้ารับโทษในคุกตลอดชีวิต

4 ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง Deep Web กับ Dark Web

1. รูปแบบการใช้งาน

Deep Web – แม้จะเป็นเว็บไซต์ที่ไม่ปรากฎในผลการค้นหา แต่ยังสามารถใช้ Search Engine ทั่วไป เช่น Google เพื่อเข้าเยี่ยมชมและใช้งานได้

Dark Web – เป็นเว็บไซต์ที่ต้องเข้าผ่านซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะเท่านั้น ไม่ถูกพบเจอในการค้นหาบนหน้า Search Engine ธรรมดาทั่วไป

2. ปริมาณเว็บไซต์

Deep Web – มีมากกว่า 200,000 เว็บไซต์ กักเก็บข้อมูลไว้มากถึง 7,500 เทระไบต์ และมี Traffic หรือปริมาณที่ผู้คนเข้าใช้งานโดยเฉลี่ยต่อเดือนแล้วสูงกว่า Surface Web 50%

Dark Web – ไม่สามารถคำนวณได้แน่ชัด แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าน่าจะมีราว 5% ของเว็บไซต์ทั้งหมดบนอินเทอร์เน็ต

3. การใช้ประโยชน์

Deep Web – สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่เข้าใช้งานมีความเป็นส่วนตัวและลดปัญหาข้อมูลรั่วไหล เช่น ระบบ Intranet ที่เปิดใช้งานเฉพาะคนภายในองค์กร รวมถึงธุรกิจต่าง ๆ ที่ทำกำไรจากเนื้อหาบนเว็บไซต์ เช่น สำนักข่าวที่มี Paywall ให้สมัครสมาชิกและชำระเงินก่อนจึงจะอ่านข่าวได้

Dark Web – สร้างขึ้นเพื่อให้ทั้งเจ้าของเว็บไซต์และผู้เข้ามาใช้งานสามารถปกปิดตัวตนของตัวเองได้ จึงสามารถนำไปใช้ในทางที่ถูกกฎหมาย เช่น ผู้ลี้ภัยทางการเมืองใช้เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารที่ปลอดภัยจากรัฐบาลเผด็จการ แต่ก็มีข้อเสียคือกลายเป็นเครื่องมือใช้ก่ออาชญากรรมได้เช่นกัน

4. ความปลอดภัย

Deep Web – มีความปลอดภัยสูง ทุกคนเข้าถึงได้อย่างสบายใจ แต่ยังควรต้องระมัดระวังภัยไซเบอร์ที่พบเห็นได้ทั่วไปอยู่เช่นเดิม 

Dark Web – องค์กรทั้งภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ต้องคอยระวังและตรวจสอบเว็บไซต์เหล่านี้อยู่เสมอว่าข้อมูลสำคัญของตัวเองรั่วไหลและถูกซื้อขายอยู่หรือไม่ ส่วนผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการเข้าใช้งาน Dark Web เพราะเสี่ยงทั้งการตกเป็นเหยื่อของไวรัส รวมถึงการไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรและการกระทำผิดกฎหมายอีกด้วย

โลกดิจิทัลแม้จะเต็มไปด้วยโอกาสและความสะดวกสบายมากมาย แต่ก็แฝงมาด้วยภัยอันตรายรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุก Deep Web หรือ Dark Web จะมีความเสี่ยงเสมอไป สุดท้ายแล้วการจะชี้ว่าอันตรายหรือไม่ก็ต้องดูจากจุดประสงค์ของการสร้างเว็บไซต์นั้น ๆ เป็นราย ๆ ไป หวังว่าเรื่องราวอีกมุมหนึ่งของเว็บไซต์อย่าง Deep Web และ Dark Web ที่ InnoHub นำมาฝากในวันนี้จะช่วยให้ทุกคนได้รู้เท่าทันเทคโนโลยี และใช้งานเว็บไซต์อย่างระมัดระวังเพื่อลดความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางไซเบอร์

Share this article

กดติดตาม InnoHub

เพื่อรับข้อมูลข่าวสารและแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ