ขั้นต่อไปของวัคซีน mRNA

มิถุนายน 6, 2023

การที่สถานการณ์โควิดในปัจจุบันเริ่มผ่อนคลายลงได้ หนึ่งในตัวแปรสำคัญคงไม่พ้นวัคซีน mRNA ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากรโลก แม้ว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาคือชนวนสำคัญที่เร่งการพัฒนาวัคซีน mRNA ให้สำเร็จลุล่วงจนบรรเทาสถานการณ์ลงได้ แต่ภารกิจของวัคซีน mRNA ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ในปัจจุบันนักวิจัยกำลังพัฒนาวัคซีนชนิดนี้ให้สามารถป้องกันโรคอื่น ๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นมาลาเรีย เอดส์ วัณโรค หรือไข้ซิกา และอาจทำได้แม้กระทั่งรักษาโรคมะเร็งเลยทีเดียว

ในบทความนี้ InnoHub ขอพามาส่องอนาคตของเทคโนโลยี mRNA กันว่ามีความเป็นไปได้แบบไหนรออยู่บ้าง ติดตามต่อด้านล่างนี้เลย!

เทคโนโลยีวัคซีน mRNA คืออะไร

ก่อนหน้านี้หลาย ๆ คนอาจคุ้นเคยกับวัคซีนประเภทเชื้อตาย หรือวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ ซึ่งเป็นการฉีดไวรัสที่ตายหรืออ่อนแอแล้วเข้าสู่ร่างกายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันขึ้นมา แต่สำหรับวัคซีน mRNA แล้ว เราไม่จำเป็นต้องรับไวรัสเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกายก็ได้ เพียงแค่ ‘จำลอง’ ลักษณะสำคัญบางส่วนของพวกมันก็พอ

เทคโนโลยีของวัคซีน mRNA ใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติของ mRNA หรือเรียกเต็ม ๆ ว่า Messenger Ribonucleic Acid ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมที่อยู่ในเซลล์ของร่างกาย ทำหน้าที่นำส่งข้อมูลพันธุกรรมจาก DNA ไปใช้ในการสังเคราะห์โปรตีน จึงเกิดเป็นแนวคิดว่าเราสามารถจำลองลักษณะไวรัสได้ โดยการฉีด mRNA เข้าไปในร่างกาย และกระตุ้นให้เซลล์สร้างโปรตีนที่มีลักษณะเหมือนไวรัสขึ้นมา เพื่อฝึกให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราเรียนรู้ที่จะต่อสู้กับไวรัสชนิดนั้น ๆ โดยเฉพาะ ซึ่งในกรณีของวัคซีนโควิด-19 โปรตีนที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาจะมีลักษณะคล้ายโปรตีนหนาม (Spike) ซึ่งพบบนเปลือกหุ้มด้านนอกของไวรัส Sars-CoV-2 นั่นเอง

ก้าวสู่วัคซีนรักษาโรคมะเร็ง

ความสำเร็จของวัคซีน mRNA ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าเราสามารถฝึกให้ระบบภูมิคุ้มกันสู้กับโปรตีนชนิดต่าง ๆ ได้ จึงเป็นไปได้ว่ามันอาจได้ผลกับโปรตีนของเซลล์มะเร็งด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถศึกษาเซลล์เนื้องอกของคนไข้ และพัฒนาวัคซีนรักษาคนไข้โรคมะเร็งแบบเฉพาะบุคคลขึ้นมาได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตามการพัฒนาวัคซีนเพื่อรักษาโรคมะเร็งนั้นมีความท้าทายกว่า เพราะการจำลองลักษณะของโปรตีนบนเซลล์มะเร็งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนรักษาโรคมะเร็งที่สามารถนำมาใช้ได้จริงบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพชื่อดังอย่าง BioNTech และ Moderna ก็มีความสนใจและกำลังเร่งพัฒนาวัคซีน mRNA เพื่อรักษาโรคมะเร็งด้วยเช่นกัน โดยผลการทดลองล่าสุดของวัคซีนโรคมะเร็งจากความร่วมมือของ Moderna และ Merck เผยว่าวัคซีนชนิดนี้สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็งซ้ำในผู้ป่วยมะเร็งผิวหนัง (Melanoma) ได้

อนาคตของวัคซีน mRNA

ในทางทฤษฎีแล้ว มีความเป็นไปได้ที่วัคซีน mRNA ซึ่งสามารถจำลองโปรตีนหลากหลายชนิดจะถูกนำไปประยุกต์ใช้ต่อกรกับโรคติดเชื้อชนิดอื่น ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ เอดส์ และวัณโรค

รู้หรือไม่ว่าวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ถูกใช้งานอยู่ในปัจจุบันมักถูกผลิตจากเชื้อที่ตายแล้วหรือโปรตีนบนเชื้อไวรัส เพื่อใช้กระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันป้องกันเชื้อไวรัสชนิดนี้ แต่กระบวนการเพาะเชื้อไวรัสเพื่อให้ได้โปรตีนมานั้นใช้เวลานาน และยังมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสขณะเพาะเลี้ยง ส่งผลให้วัคซีนที่ได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ในขณะที่วัคซีนจากเทคโนโลยี mRNA นั้นสามารถผลิตได้เร็วกว่า และมีศักยภาพเพียงพอที่จะป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้หลากหลายชนิด ในปัจจุบันมีการวิจัยเพื่อพัฒนาวัคซีน mRNA ที่คาดว่าจะสามารถใช้ป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ทุกชนิดแบบครอบจักรวาลด้วยวัคซีนเดียว โดยผลการทดลองครั้งล่าสุดกับหนูและตัวเฟอร์เร็ตเผยว่าวัคซีนนี้สามารถป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดย่อยได้ถึง 20 ชนิดเลยทีเดียว

นอกจากโรคมะเร็งและไข้หวัดใหญ่แล้วนักวิจัยยังได้มีการศึกษาทดลองเทคโนโลยี mRNA กับโรคชนิดอื่นด้วยเช่นกัน เช่น มาลาเรีย วัณโรค และเอดส์ แต่การจำลองเชื้อโรคบางกลุ่ม เช่น เชื้อ HIV อาจมีความท้าทายสูง เพราะนักวิจัยยังไม่พบโปรตีนที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้ดีเหมือนอย่างกรณีของเชื้อไวรัสโคโรนาเพื่อนำมาใช้เป็นต้นแบบของการจำลองลักษณะไวรัส

แม้วัคซีน mRNA จะยังอยู่ในช่วงพัฒนาไปสู่โอกาสในการรักษาโรคมากมาย แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่กำลังก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง วันข้างหน้าอาจมีวัคซีน mRNA หรือวัคซีนชนิดใหม่ ๆ ที่จะช่วยปกป้องเราให้ปลอดภัยจากโรคร้ายและโรคระบาดครั้งใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นอีกก็เป็นได้

Share this article

กดติดตาม InnoHub

เพื่อรับข้อมูลข่าวสารและแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ

เรานำข้อมูลมาใช้เพื่อการส่งมอบคอนเทนต์และบริการอย่างเหมาะสม เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy และคลิกสมัครเพื่อดำเนินการต่อ